อ่านให้เคลียร์ ก่อนจะเลือกวิธี “ดูดไขมัน”

ความจริงไขมันมีอยู่ในหลายๆส่วนของอวัยวะในร่างกาย ทั้งในระบบประสาทและสมอง ในช่องท้องและตามเนื้อเยื่อต่างๆ ก็มีไขมันอยู่มากบ้างน้อยบ้าง แต่ไขมันที่เราพูดถึงกันทั่วไปมักหมายถึงไขมันชั้นใต้ผิวหนัง ซึ่งจะหนาหรือบางก็ขึ้นกับแต่ละคน และแต่ละส่วนของร่างกายก็มีความหนาของ ชั้นไขมันใต้ผิวหนังไม่เท่ากัน บางบริเวณมีไขมันชั้นเดียว ในขณะที่บางส่วน ของร่างกายชั้นไขมันแบ่งเป็นสองชั้น หากปล่อยให้อ้วนจนมีไขมันส่วนเกิน ไขมันส่วนเกินนั้นนอกจากจะเกาะตามอวัยวะภายใน ตามหลอดเลือดแล้ว ยังเกาะมากขึ้นตามใต้ผิวหนังด้วย

แบบไหนเรียก “ไขมันส่วนเกิน”

ไขมันส่วนเกิน คือไขมันที่มีปริมาณมากเกินไปจนเกิดการสะสม การที่เราจะรู้ว่าเราอ้วนเกินไปหรือไม่ สามารถคํานวณคร่าวๆได้จากดัชนีมวลกาย โดยใช้น้ำหนักเป็นกิโลกรัมหารด้วยส่วนสูงเป็นเมตรยกกําลังสอง ตามสูตรคํานวณดังนี้ คือ BMI = Body weight (kg) / (Height (m))2

เมื่อคํานวณค่า BMI ได้แล้ว และอยากทราบว่าเราอ้วนหรือไม่ ก็สามารถแปลผลได้ตามตาราง

 
ตารางแสดงการแปลผลค่าดัชนีมวลกายในคนไทย

ตารางแสดงการแปลผลค่าดัชนีมวลกายในคนไทย

 

การคํานวณดัชนีมวลกายไม่ได้วัดปริมาณไขมันโดยตรง เพราะในบางคนที่มีมวลกล้ามเนื้อมากจะมีน้ำหนักตัวมากไปด้วย เมื่อคำนวณค่า BMI จะได้ค่าสูงทั้งๆที่ไม่ได้มีไขมันมาก

การจะวัดปริมาณไขมันโดยตรง จะมีวิธีวัดปริมาณไขมันของร่างกาย ซึ่งได้จากการคำนวณจาก BMI โดยใช้สูตรแปลงค่าหาเปอร์เซ็นต์ของไขมันในร่างกายแบบเจาะจงโดยใช้ค่า BMI ในการคํานวณต่อไปนี้ (1.20 x BMI) + (0.23 x อายุ) - (10.8 x เพศ) - 5.4 สําหรับตัวเลขของเพศนั้น ถ้าเป็นผู้ชายให้ใช้เลข 1 และผู้หญิงใช้เลข 0

การคํานวณจากความหนาของชั้นไขมันที่หน้าท้องหรือท้องแขน หรือใช้เครื่องมือวัดปริมาณไขมันได้ ตามที่มีในโรงพยาบาลหรือสถานบริการออกกําลังกาย หรือสถานปรับรูปร่างได้ โดยทั่วไปแนะนําปริมาณไขมันที่พอเหมาะคือไม่เกิน 22 เปอร์เซ็นต์ในเพศชาย และ ไม่เกิน 31 เปอร์เซ็นต์ ในเพศหญิง ดังแสดงในตาราง

 
3BE24469-4FE3-41C0-B2B8-B5430D716E0C.jpeg
 

ลดความอ้วนโดยการดูดไขมันจะดีจริงหรือ ?

คนไข้หลายคนเป็นคนใจร้อน ตอนอ้วนจะค่อยๆเพิ่มขึ้นเป็นระยะ แต่เมื่ออยากผอมต้องการจะให้ผอมได้ไว จึงยอมใช้ทุกวิธีทั้งออกกําลังกายก็แล้ว กินยาลดความอ้วนก็แล้วก็ยังไม่ผอม และเมื่อเห็นโฆษณาคลินิกดูดไขมันเด้งขึ้นมาหน้าเฟสบุค ก็แปลกใจ

“โห ทําไมมันผอมได้ทันตาเห็นแบบนี้”

แต่หารู้ไม่ว่าถ้าสังเกตดีๆฉากหลังของภาพมักเป็นฉากสีเรียบๆไม่มีลวดลายใดๆ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะเป็นภาพที่เกิดจากโปรแกรมตัดต่อหรือตกแต่ง Photo shop หลังจากผ่านการผ่าตัดมา

ดังนั้น หลายคนจึงเข้าใจผิดว่า ถ้าต้องการลดความอ้วนต้องมาดูดไขมัน ความจริงแล้วการดูดไขมันเป็นการปรับรูปร่าง ไม่ใช่การลดความอ้วน ยกตัวอย่างเช่น บริเวณหน้าท้อง หากยังเป็นคนอ้วนไม่เพียงแต่จะมีไขมันใต้ผิวหนังที่หนาเท่านั้น แต่จะมีไขมันที่ในช่องท้องมากด้วย ท้องก็จะมีอาการป่องมาจากด้านใน แม้เราจะดูดไขมันใต้ผิวหนังออกแล้ว ท้องก็ยังดูป่องอยู่ดี หรือในกรณีคนไข้ที่เพิ่งคลอดบุตร แต่บุตรทิ้งน้ำหนักส่วนเกินไว้หลังคลอด แล้วจึงยังมีหน้าท้องใหญ่อยู่เช่นเดิม

คนไข้กลุ่มนี้ ก่อนที่จะตัดสินใจดูดไขมัน จําเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องประเมินก่อนว่า หน้าท้องที่ยื่นนั้นเกิดจากกล้ามเนื้อหน้าท้องที่ยืดขยายในช่วงระหว่างคลอดหรือไม่ เพราะถ้าเป็นกรณีแบบนี้ การดูดไขมันอย่างเดียว ไม่ได้ช่วยให้ผอม

ดังนั้น หากต้องการให้รูปร่างดูดีควรควบคุมน้ำหนักให้ดัชนีมวลกาย ไม่เกิน 30 แล้วจึงดูดไขมันเฉพาะที่ยังเป็นส่วนเกิน โดยไปปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินก่อนจะได้ผลดีที่สุด

 
ภาพแสดงก่อนและหลังการดูดไขมันต้นขา

ภาพแสดงก่อนและหลังการดูดไขมันต้นขา

 

ไขมัน ที่ดูดออกแล้วนําไปใช้ทําอะไรได้บ้าง ?

ไขมันไม่ใช่ของดีและไม่ใช่ของที่ไม่ดีเสียทีเดียว แต่ยังสามารถใช้ไขมันของเราเองให้เป็นประโยชน์ได้หลายส่วน เช่น

1. เติมเต็มใบหน้า การที่ร่างกายมีไขมันใต้ผิวหนัง ทําให้ผิวหนังดูชุ่มชื้นขึ้น และเมื่อายุมากขึ้น ไขมันฝ่อตัวลง ก็จะดูเหี่ยวย่น การเติมไขมันบริเวณใบหน้าก็จะช่วยให้ยังดูอ่อนเยาว์ นอกจากนี้การเติมไขมันที่ใบหน้า จะช่วยในการปรับรูปหน้า เช่นในคนที่แก้มตอบ ขมับหวํา คล้ายบุบลึก หน้าผากแบนราบ ก็จะใช้ไขมันปรับรูปหน้าได้ อีกทั้งการแก้ไขปัญหาบางประการจากการผ่าตัดเช่น หลังทำการผ่าตัดเปลือกตาแล้วเอาไขมันออกมากเกินไป เกิดตาหวําหรือเกิดแผลเป็นบุ๋มจากการผ่าตัดหรืออุบัติเหตุ นอกจากนี้ ความผิดปกติของใบหน้าแต่กำเนิด บางอย่างการเติมไขมันก็จะช่วยแก้ไขหรือช่วยบรรเทาปัญหาดังกล่าวได้

 
ภาพแสดงการฉีดไขมันที่ใบหน้า

ภาพแสดงการฉีดไขมันที่ใบหน้า

 
 
ภาพแสดงผลการฉีดไขมันแก้ไขใบหน้าฝ่อลีบ

ภาพแสดงผลการฉีดไขมันแก้ไขใบหน้าฝ่อลีบ

 

2. เสริมเต้านม ในสตรีที่ทรงหน้าอกเล็ก นอกจากใช้ซิลิโคนเสริมเต้านมแล้วยังอาจใช้ไขมันส่วนเกิน เช่น จากบริเวณหน้าท้องหรือต้นขามาใช้ในการเสริมเต้านมได้ แต่การเสริมเต้านมด้วยไขมันจะได้ขนาดที่ใหญ่ขึ้นไม่มาก เนื่องจากการฉีดไขมันแต่ละครั้ง จํากัดด้วยปริมาณที่ไม่มากเกินไป และหากฉีดที่อัดแน่นเกินไป จะส่งผลเสียต่อการติดของไขมัน โดยทั่วไปเสริมได้ครั้งละ 150-300 ซีซี ต่อข้าง หลังจากอยู่ตัวแล้ว โดยเฉลี่ยก็จะมีขนาดเต้าเพิ่มขึ้นเพียงครึ่งถึงหนึ่งคัพ ต่อการฉีด 1 ครั้งเท่านั้น

 
ภาพแสดงผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ที่ได้รับการใช้ไขมัน แก้ไขความผิดรูปที่เกิดจากพังผืดรัดซิลิโคน ที่เต้านมด้านซ้าย

ภาพแสดงผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ที่ได้รับการใช้ไขมัน แก้ไขความผิดรูปที่เกิดจากพังผืดรัดซิลิโคน ที่เต้านมด้านซ้าย

 
 
ภาพแสดงการเสริมเต้านมด้วยไขมันตนเอง

ภาพแสดงการเสริมเต้านมด้วยไขมันตนเอง

 

3. การแก้ไขแผลเป็น การมีแผลเป็นชนิดบุ๋มจะทําให้เห็นแผลชัด และไม่สวยงามสามารถเติมเต็มแผลเป็นชนิดตื้นได้ โดยการเติมเต็มบริเวณใต้แผล ทำให้อาการบุ๋มดีขึ้น นอกจากนี้การเติมไขมันยังช่วยให้แผลเป็นดึงรั้งน้อยลง และคุณภาพแผลดีขึ้นอีกด้วย คือไขมันจะทําให้แผลนุ่มขึ้น

 
ภาพแสดงการใช้ไขมันแก้ไขแผลเป็นชนิดบุ๋มที่แก้มขวา

ภาพแสดงการใช้ไขมันแก้ไขแผลเป็นชนิดบุ๋มที่แก้มขวา

 


เทคนิคในการดูดไขมันเพื่อนํามาใช้

มีคำถามว่าไขมันที่จะนำมาใช้ จะดูดมาจากส่วนใดของร่างกายดีที่สุด คำตอบคือ เอามาจากส่วนเกินที่เราไม่ต้องการ เพราะจากงานวิจัยพบว่า ไขมันไม่ว่าจะเอามาจากหน้าท้อง ต้นขา ท้องแขน หรือด้านในของเข่า ก็จะได้คุณภาพที่ใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ แนะนําให้ดูดไขมันมาจากส่วนที่มีเกิน และต้องการเอาออกอยู่แล้ว ถือว่าได้ประโยชน์พร้อมกันสองประการ คือได้ลดส่วนที่ไม่ต้องการ และเพิ่มในส่วนที่ต้องการเติมไขมันเข้าไปนั่นเอง

ขั้นตอนการเตรียมไขมัน

การเตรียมไขมัน แพทย์จะทําการดูดจากส่วนที่ไม่ต้องการ แล้วนํามาผ่านกระบวนการทําให้ได้เฉพาะเซลล์ไขมัน โดยมีส่วนของ น้ำเหลืองหรือเม็ดเลือดปนให้น้อยที่สุด ซึ่งมีหลายวิธี เช่นการตั้งทิ้งไว้ให้ไขมันแยกชั้น การปั่นหรือการกรอง ซึ่งแต่ละวิธีให้ผลการอยู่รอดของเซลล์ไขมันไม่ต่างกัน ส่วนการผสมสารบางอย่าง เช่น PRP หรือ สเต็มเซลล์ เชื่อว่าทําให้เพิ่มอัตราการอยู่รอดของไขมัน แต่วิธีนี้ค่าใช้จ่ายยังค่อนข้างสูง

 
ภาพแสดงไขมันที่แยกชั้นจากการปั่นและการตกตะกอน

ภาพแสดงไขมันที่แยกชั้นจากการปั่นและการตกตะกอน

 


เทคนิคการฉีดไขมัน

เทคนิคการฉีดไขมัน แพทย์จะใช้เข็มฉีดยาขนาดเล็กต่อกับเข็มปลายทู่ ฉีดสานกันเป็นร่างแห โดยไม่ฉีดเป็นก้อนเพื่อป้องกันความขรุขระ และเพื่อให้ไขมันติดดีขึ้น


 
ภาพแสดงเข็มฉีดยาขนาดเล็กต่อกับเข็มปลายทู่ที่ใช้ในการฉีดไขมัน

ภาพแสดงเข็มฉีดยาขนาดเล็กต่อกับเข็มปลายทู่ที่ใช้ในการฉีดไขมัน

 

ถามตอบ เรื่องควรรู้ ก่อน-หลัง ดูดไขมัน

ข้อควรระวังหลังรับการฉีดไขมันอย่างไรบ้าง ?

สิ่งที่ต้องระวังหลังการฉีดไขมัน คือหากมีภาวะการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ หรือทานยาที่ต้านการแข็งตัวของเลือด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที และห้ามกดทับหรือนวดบริเวณที่ฉีดไขมัน ต้องงดสูบบุหรี่หรืออยู่ในที่ที่มีควันบุหรี่ งดรับประทานยาลดความอ้วน หรือออกกําลังกาย 2 สัปดาห์

ไขมันที่ฉีดเข้าไปจะอยู่ถาวรจริงหรือ ?

ปกติเซลล์ไขมันที่ทําการฉีดจะมีชีวิตอยู่ระยะเวลาหนึ่ง จากนั้นจะต้องการเลือดมาเลี้ยง หากมีเลือดเลี้ยงทันเวลา เซลล์ไขมันก็จะอยู่รอด หากเลือดมาเลี้ยงไม่ทัน เซลล์ไขมันก็จะตายและสลายตัวไป สําหรับส่วนที่เลือดมาเลี้ยงไขมันจะมีชีวิตก็มีโอกาสที่จะอยู่ถาวร อาจมีการผลัดเซลล์บ้างไม่มาก ซึ่งโดยปกติเซลล์ไขมันจะมีชีวิตรอด หรือที่เรียกกันว่าไขมันติด ค่าเฉลี่ยจะประมาณ 20-60 เปอร์เซ็นต์

ปัจจัยที่ไขมันติดน้อยหลังฉีดไขมัน

หลังจากฉีดไขมันแล้วอัตราการอยู่รอดของเซลล์ที่มีปริมาณน้อยอาจมาจากปัจจัยหลายประการ เช่น การฉีดที่เป็นจุดใหญ่ ทําให้เลือดเข้าไปเลี้ยงส่วนกลางได้ไม่ถึง การฉีดที่ค่อนข้างแน่นเกินไป เลือดก็จะเข้าไปเลี้ยงได้ยาก หรือในคนที่สูบบุหรี่หรืออยู่ใกล้คนที่สูบบุหรี่ จะมีเส้นเลือดหดตัวทําให้เลือดไม่ไปเลี้ยงเซลล์ไขมัน ไขมันก็จะสลายไป สามารถปรับได้โดยการฉีดในลักษณะสานกันเป็นร่างแห และฉีดไม่แน่นจนเกินไป

ดูดไขมันแล้วเกิดรอยบุ๋มทําอย่างไร ?

หลังจากดูดไขมันแล้ว หากบริเวณนั้นเกิดอาการบุ๋มเพียงเล็กน้อย อาการก็อาจจะค่อยๆดีขึ้น แต่หากมีรอยบุ๋มมาก อาจใช้ไขมันจากบริเวณอื่นมาเติมได้

ฉีดไขมันแล้วไม่เรียบ สามารถแก้ไขได้หรือไม่ ?

หลังการฉีดไขมันแล้วผิวไม่เรียบหรือมีลักษณะเป็นคลื่นเล็กๆ สามารถเติมไขมันได้โดยใช้เทคนิค Microfat คือทําให้เซลล์ไขมันมีขนาดเล็ก แล้วฉีดเกลี่ยให้เรียบขึ้นได้ แต่หากเป็นก้อนต้องตรวจดูว่าเกิดเป็นซีสต์ หรือก้อนของเซลล์ไขมันกันแน่ หากเป็นซีสต์สามารถใช้เข็มเจาะออกได้ แต่หากเป็นก้อนไขมัน มีวิธีแก้หลายวิธี เช่นฉีดบริเวณรอบๆ เพิ่มเติม เพื่อให้ก้อนปูดน้อยลง หรืออาจใช้การผ่าออก หรือฉีดสลาย แล้วแต่ดุลยพินิจของแพทย์

การเก็บรักษาไขมันไว้ เพื่อใช้หลายครั้ง

มักมีคําถามบ่อยครั้ง ถึงการเก็บไขมันไว้ใช้ได้หลายครั้ง ซึ่งปัจจุบันมีการเก็บโดยใช้วิธีการแช่แข็งเพื่อรักษาสภาพเซลล์ (Cryopreserve) แต่ผลการนําเซลล์ที่เก็บไว้มาฉีด พบว่ามีเซลล์ไขมันสลายออกมาก หรือเรียกว่าไขมันติดน้อยนั่นเอง ประกอบกับขั้นตอนการเก็บเซลล์ไขมันมีราคาแพง จึงไม่เป็นที่นิยม

ใช้ไขมันของคนอื่นได้หรือไม่ ?

การฉีดไขมัน จะต้องใช้ไขมันของตนเองเท่านั้น และไม่สามารถใช้ไขมันของคนอื่นได้ เนื่องจากเซลล์ของร่างกายแต่ละคนไม่สามารถเข้ากันได้

ฉีดไขมันแล้วฉีดซ้ำได้หรือไม่ ? เมื่อไหร่ดี ?

การฉีดไขมันจะเข้าที่เมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 1 ปีครึ่ง แต่หลังจากผ่านไป 2-3 เดือนแล้ว หากต้องการเติมไขมันเพิ่มอีก ก็สามารถทําได้ ในกรณีบริเวณที่ต้องการจะฉีดเพิ่มนั้น มีอาการขาดไขมันอย่างชัดเจน แต่หากยังมีไขมันไม่มากหรือยังพอรอได้ แพทย์จะแนะนําให้รอผลครบ 1 ปี หรือ 1 ปี 5 เดือน แล้วจึงพิจารณาเติมไขมันอีกครั้ง โดยมีข้อแนะนําว่าไม่ควรฉีดจนมากเกินไป โดยเฉพาะในวัยรุ่นที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนัก และเมื่อฉีดไขมันมากเกินไป การแก้ไขในอนาคตจะเป็นเรื่องยาก





ThPRS of Thailand