Untitled-5 copy.png
 
 
 

วัตถุประสงค์ของสมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งแห่งประเทศไทย

  1. ช่วยเหลืองานบริการ ให้คำแนะนำปรึกษาด้านศัลยกรรมตกแต่งแก่ประชาชนและบุคคลทั่วไป

  2. แจ้งข่าวประชาสัมพันธ์ จัดกิจกรรม แนะนำโครงการต่างๆ ที่จะนำมาซึ่งผลประโยชน์ของประชาชน

  3. มุ่งเน้นให้ประชาชนตระหนักถึงความปลอดภัย ไม่หลงเชื่อคำโฆษณาหลอกลวงจากกลุ่มบุคคลที่แอบอ้างแสวงหาผลประโยชน์

  4. สนับสนุนผลงานด้านวิชาการ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ประสบการณ์ ส่งเสริมงานวิจัยและเทคโนโลยี เพื่อยกระดับศัลยแพทย์ตกแต่งของไทยให้ก้าวสู่ความเป็นสากล

  5. รักษามาตรฐานเพื่อประสิทธิผลทางการแพทย์ในด้านคุณธรรม จริยธรรม และศีลธรรม

  6. สร้างความสามัคคีปรองดองในกลุ่มสมาชิก เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่นและบรรลุเป้าหมาย

  7. สร้างเจตคติที่ดีและมีความศรัทธาต่อวิชาชีพ ปกป้ององค์กรอย่างเต็มกำลังความสามารถ

 

หน้าที่และบทบาทของสมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งแห่งประเทศไทย

ศัลยศาสตร์ตกแต่งเป็นสาขาวิชาที่ได้รับการฝึกอบรมด้านศัลยกรรมเสริมความงาม และการผ่าตัดซ่อมแซมหรือเสริมสร้างแก้ไขความผิดปกติของร่างกาย ผู้ที่สำเร็จหลักสูตรนี้จะเรียกว่า “ศัลยแพทย์ตกแต่ง หรือศัลยแพทย์ตกแต่งเฉพาะทาง”

การผ่าตัดศัลยกรรมทุกประเภทนั้นมีความเสี่ยงและอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดได้ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการช่วยเหลือและให้ความรู้แก่ประชาชนบุคคลทั่วไป สมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งแห่งประเทศไทยจึงสร้างช่องทางติดต่อและเครื่องมือในการค้นหาผ่านทางเว็บไซต์ โดยแบ่งย่อยออกเป็น 2 สมาคม ได้แก่

  • สมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งแห่งประเทศไทย (Society of Plastic and Reconstructive Surgeons of Thailand) www.thprs.org

  • สมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งเสริมสวยแห่งประเทศไทย (The Society of Aesthetic Plastic Surgeons of Thailand) www.surgery.or.th

 
 
 

 ประวัติสาขาวิชาศัลยศาสตร์ตกแต่ง และสมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งแห่งประเทศไทย

(เริ่มก่อตั้ง - พ.ศ. 2525)

ศ.นพ.ลิ้ม คุณวิศาล
14 มกราคม 2555

ไม่ได้มีการบันทึกอย่างแน่ชัดสำหรับประวัติศาสตร์ของศัลยกรรมตกแต่งและเสริมสร้างในประเทศไทย ว่าเริ่มมีขึ้นเมื่อไร เช่นเดียวกับในประเทศอื่นๆ ศัลยกรรมในระยะแรกๆก็เป็นบาดเจ็บ ต่อไปก็เป็นการตัดอวัยวะหรือเนื้อเยื่อที่อักเสบหรือมีโรคที่ไม่อาจรักษาทางยาได้ เพื่อให้ชีวิตผู้ป่วยอยู่รอดพ้นจากการอักเสบหรือโรคร้ายนั้นๆ การผ่าตัดเพื่อแก้ไขความพิการในรูปร่างหรือหน้าที่เป็นของที่ตามมาทีหลัง

ศัลยกรรมที่จัดได้ว่าเป็นศัลยกรรมตกแต่งที่ทำในประเทศไทยระยะแรกๆ เป็นการเย็บปากแหว่ง ปลูกผิวหนัง และเย็บเพดานโหว่ จากการไต่ถามแพทย์อาวุโสหลายๆ ท่าน แรกสุดที่มีศัลยกรรมที่กล่าวมาแล้วมีในสมัยที่นายแพทย์ T. P. Noble มาดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกศัลยศาสตร์ รพ.ศิริราช ซึ่งเป็นโรงเรียนแพทย์แห่งเดียวในเวลานั้น ในปี พ.ศ.2467 นายแพทย์ Noble นั้น ความจริงท่านเป็นศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ แต่เมื่อมารับตำแหน่งศาสตราจารย์วิชาศัลยศาสตร์และเมื่อได้มีผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ท่านก็ต้องทำทุกสาขาเพื่อสอนนักศึกษาแพทย์ แม้แต่ในบางสาขาท่านจะต้องเปิดตำราทำ ฉะนั้นอะไรก็ตามที่นักศึกษาแพทย์ควรจะรู้ในทางศัลยศาสตร์ ท่านจะสอนและพยายามทำให้ดู นับว่าท่านเป็นผู้ที่มีพรสวรรค์คนหนึ่งในทางศัลยศาสตร์

นายแพทย์สวัสดิ์ แดงสว่าง ได้เล่าให้ฟังว่า "การผ่าตัดปากแหว่งในสมัยนั้นก็มีทำในรายที่เป็นไม่มาก ทำเพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นของที่ทำให้ดีขึ้นได้เพื่อสอนนักเรียน และก็มีแพทย์อื่นทำด้วย ศัลยแพทย์อาวุโสอีกคนที่ศิริราชในขณะนั้น คือ คุณพระศัลยเวทย์วิศิษฐ์ ซึ่งก็ได้ทราบว่าท่านก็เป็นศัลยแพทย์อีกคนหนึ่งที่ทำผ่าตัดปากแหว่ง ส่วนเรื่องการปลูกผิวหนังนายแพทย์บรรจง กรลักษณ์ บอกว่ามีทำแล้วในสมัยนั้น นายแพทย์บัณเย็น ทวีพัฒน์ บอกว่าผลการปลูกผิวหนังไม่ค่อยดี เปิดทำแผลกันทุกวัน ส่วนเรื่องการเย็บเพดานปาก นายแพทย์กำธร สุวรรณกิจ บอกว่าเคยเห็นทำแต่จำไม่ได้ว่าใช้วิธีดมยาอย่างไร

วงการศัลยกรรมในสมัยนั้น เป็นวงการที่แคบ มีศัลยแพทย์อยู่ไม่กี่คน เมื่อมีการผ่าตัดแบบนี้ที่ศิริราช ก็มีการผ่าตัดแบบนี้ที่โรงพยาบาลอื่นๆในกรุงเทพฯด้วย รพ.กลาง ซึ่งมีนายแพทย์นิตย์ เวชวิศิษฐ์ นายแพทย์เป็นทูล บุญอิต ก็คงต้องมีการผ่าตัดแบบนี้ด้วย เพราะทั้งสองท่านเป็นศัลยแพทย์ที่มีความสามารถ

นายแพทย์เป็นทูลต่อมาได้โอนมาโรงพยาบาลศิริราช แล้วย้ายไปพิษณุโลกในเวลาต่อมา ส่วนโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ก็มีแพทย์มือดีหลายท่านตามลำดับมา คุณพระศัลยเวทย์ วิศิษฐ์ นายแพทย์นิตย์ เวชวิศิษฐ์ หลวงสุเวชศุภกิจ นายแพทย์ชุบ โชติกเสถียร คุณพระศัลยเวทฯ คงสังกัดทั้งกองทัพบกและศิริราช ส่วนนายแพทย์นิตย์ เวชวิศิษฐ์นั้น ผมเคยอ่านพบว่าสมเด็จพระราชบิดา รับสั่งให้ไปช่วยโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ด้วย เพราะศัลยแพทย์เวลานั้นไม่มาก สำหรับคุณหลวงสุเวชศุภกิจ นั้น มีผู้ยืนยันว่าท่านทำผ่าตัดแบบนี้ด้วยแน่นอน

เท่าที่ได้ยินมาในระยะนี้ยังไม่มีผู้ใดสนใจในศัลยกรรมตกแต่งอย่างจริงจัง ผู้ที่สนใจท่านดูจะเป็นนายแพทย์สงวน โรจนวงศ์ แพทยศาสตร์บัณฑิตรุ่นแรกและแพทยศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตคนแรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ท่านก็มิได้ติดตาม specialty นี้อย่างจริงจัง เมื่อท่านย้ายจากโรงพยาบาลศิริราชไปกองทัพบก

แพทย์ท่านแรกที่สนใจและทำผ่าตัดทางศัลยกรรมตกแต่งอย่างจริงจังคือ นายแพทย์เฟื่อง สัตว์สงวน ซึ่งท่านเป็นศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เมื่อท่านแก้ไขความพิการของกระดูก ท่านก็แก้ไขความพิการทางรูปร่างของเนื้อเยื่ออื่นๆด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ท่านรักทางกระดูกของท่านมากกว่า และท่านก็มีผู้ป่วยทางกระดูกอยู่มากมาย ท่านจึงให้เวลาแก่ศัลยกรรมตกแต่งไม่ได้มากนัก แต่ list ผ่าตัดทางท่านจะมีปากแหว่งอยู่ด้วยเสมอ ผู้ช่วยตามลำดับของท่านมีนายแพทย์ตระกูล ภาวรเวช นายแพทย์อุทัย ศรีอรุณ นายแพทย์ทองนอก นิตยสุทธ นายแพทย์นที รักษ์พลเมือง ก็พลอยมีความสามารถในด้านนี้ไปด้วย

ผลจากสงครามโลกครั้งที่แล้ว ทำให้ผู้ป่วยที่มีบาดแผลจากระเบิดจากไฟไหม้ต้องมารับการรักษาทางท่านเป็นจำนวนมาก และจากสงครามนี้เช่นกันทำให้ผมได้ทราบถึง reconstructive surgery รายหนึ่งของนายแพทย์บัณเย็น เป็นศิลปินที่มีชื่อในทางเขียนรูปภาพต่างๆ ที่ท่านเขียนไว้เพื่อแสดงกายวิภาคของส่วนต่างๆ ของร่างกาย ยังคงใช้เพื่อสอนนักศึกษาแพทย์ที่ศิริราชจนทุกวันนี้

ในปี พ.ศ.2489 โรงพยาบาลศิริราชได้ศัลยแพทย์ที่มีความสามารถสองท่านกลับจากออสเตรียและอังกฤษในเวลาอันใกล้เคียง ท่านทั้งสองนี้ต่างก็มี specialty ของท่านเองและมีความสามารถในศัลยศาสตร์ทั่วไปด้วย ท่านคือนายแพทย์อุดม โปษะกฤษณะ และนายแพทย์สมาน มันตาภรณ์ ท่านจะจำทุกอย่างที่คิดว่าจะช่วยผู้ป่วยได้ ฉะนั้นเรื่องปากแหว่งเพดานโหว่ จึงไม่ใช่เรื่องที่ท่านจะย่อท้อ ผมได้เห็นผู้ป่วยที่นายแพทย์อุดมได้เย็บเพดานปากแหว่งที่นั่น

ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ขณะนั้นก็มีศัลยแพทย์อาวุโสฝีมือดีหลายท่านซึ่งผ่าตัดผู้ป่วยแบบนี้อยู่แล้ว เช่น นายแพทย์ชุบ โชติกเสถียร นายแพทย์พงษ์ ตันสถิตย์ นายแพทย์เฉลี่ย วัชรพุกก์ นายแพทย์นิยม ฉัมะวงศ์ เมื่อสงครามโลกเสร็จสิ้นแล้วผมได้เดินทางไปสหรัฐอเมริกา จากอังกฤษ เพื่อการฝึกอบรมทางศัลยกรรมตกแต่ง ความจริงที่อังกฤษเวลานั้นก็มี plastic unit อยู่หลายแห่ง แต่เนื่องจากผมได้ฝึกอบรมทางศัลยกรรมทั่วไปที่อังกฤษมาแล้ว จึงอยากไปฝึกอบรมที่อื่นบ้าง ผมไปสหรัฐอเมริกาอย่างกะทันหันไม่ได้เตรียมการไว้ล่วงหน้า เมื่อไปถึงสหรัฐอเมริกาก็ไปหา Dr.Jerome P. Webster ที่ York Medical Centre, Webster เป็นปรมาจารย์คนหนึ่งในทางศัลยกรรมตกแต่งของสหรัฐอเมริกา ท่านเป็นศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง จึงให้ความเอ็นดูเป็นพิเศษแก่คนตะวันออก ท่านรับผมไว้ไม่ได้แต่ท่านก็จัดส่งผมไปหาลูกศิษย์ท่านคนหนึ่ง คือ Dr. Brandom Macomber ที่ Albany N.Y. ที่สหรัฐอเมริกา

เวลานั้นเริ่มมี Board of Specialty แล้ว Board ทาง Plastic และ Reconstructive Surgery ก็มี แต่ยังไม่อนุญาตให้คนต่างชาติสอบ เมื่อผมกลับมาเมืองไทยในปี 2493 ก็พบว่านายแพทย์เฟื่อง สัตย์สงวน ทำทางศัลยกรรมตกแต่งอยู่แล้วไม่น้อย แต่ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ท่านมีผู้ป่วยทางออร์โธปิดิกส์แล้วมากมาย และท่านก็ชอบ Thoracic Surgery ด้วย ท่านจึงไม่มีเวลาที่จะปันมาให้ทางศัลยกรรมตกแต่งมากนัก เมื่อท่านทราบว่าผมได้รับการฝึกอบรมทางศัลยกรรมตกแต่งมา ท่านก็มีใจเมตตาส่งผู้ป่วยเหล่านี้ต่อมาให้ผมบ้าง จากนั้นผมก็ทำทางศัลยกรรมตกแต่งมากขึ้นเรื่อยๆ

นายแพทย์ไทยคนแรกที่รักศัลยกรรมตกแต่งมากจนพอใจที่จะทำศัลยกรรมตกแต่งเพียงอย่างเดียว ไม่ปรารถนาจะทำศัลยกรรมอื่นๆ คือ นายแพทย์จารุ สุขบท ผู้ซึ่งเป็นแบบฉบับให้รุ่นน้องๆ ดำเนินรอยตามนายแพทย์จารุ ใน พ.ศ.2498 ได้ไปฝึกอบรมศัลยศาสตร์ตกแต่งที่เมือบัลติเมอร์อย่างครบถ้วน เมื่อกลับมาประเทศไทยแล้วแล้วยังได้ไปดูงานทางศัลยกรรมตกแต่งและศัลยศาสตร์ที่เกี่ยว้องกับศัลยศาสตร์ตกแต่งอีกหลายประเทศ เช่น อินเดีย ญี่ปุ่น แคนาดา

นายแพทย์จารุ เป็นหัวหน้าหน่วยศัลยศาสตร์ตกแต่งคนแรกของคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์ เป็นผู้ก่อตั้งคนหนึ่งของสมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งแห่งประเทศไทย ซึ่งนายแพทย์จารุได้รับเลือกเป็นอุปนายกคนแรกของสมาคม เป็นที่น่าเสียดายว่านายแพทย์จารุ ต้องเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในขณะที่ยังหนุ่มแน่นและรุ่งเรืองในอาชีพที่ตนถนัด

ผู้ที่สนใจและได้รับการฝึกอบรมทางศัลยกรรมตกแต่งในระยะเวลาใกล้เคียงกันนี้อีกผู้หนึ่งคือ นายแพทย์พิสิฎฐ์ วิเศษกุล ความจริงนายแพทย์พิสิฎฐ์ได้ฝึกอบรมที่สหรัฐอเมริกาก่อนนายแพทย์จารุหลายปี แต่นายแพทย์พิสิฎฐ์ ทำทางศัลยกรรมทั่วไปก่อนมาให้ความสนใจทางศัลยกรรมตกแต่งในระยะหลัง นายแพทย์พิสิฎฐ์ได้มีโอกาสอยู่ใกล้ชิดกับกลุ่ม Dr.Brown และ Dr.Mc. Dowell ของ St.Louis และก่อนกลับประเทศไทยได้ไปทำทางมะเร็งที่ New York Memorial Hospital จึงได้ทำทาง Reconstruction มามากก่อนกลับประเทศไทย

ผู้ที่ไปฝึกอบรมศัลยกรรมตกแต่งที่ต่างประเทศ ส่วนใหญ่ต้องฝึกทางศัลยศาสตร์ทั่วไปก่อน อาจไปชอบศัลยกรรมตกแต่งทีหลัง หรือเพราะมีกฎบังคับว่าก่อนฝึกศัลยกรรมตกแต่งจะต้องมีความรู้ความชำนาญทางศัลยศาสตร์ทั่วไปอันเป็นที่ยอมรับได้ ฉะนั้นการที่จะเรียงลำดับแพทย์คนไหนฝึกศัลยกรรมตกแต่งก่อนใครจึงเป็นการลำบาก บางคนก็ไปทำศัลยศาสตร์ทั่วไปเป็นเวลา บางคนก็ทำศัลยศาสตร์ทั่วไปเป็นระยะสั้น มีไม่กี่คนที่ไปฝึกศัลยกรรมตกแต่งโดยตรงเลย และปีที่ไปเริ่มฝึกอบรม ก็ค้นหาให้แน่นอนได้ลำบาก แม้แต่เจ้าตัวเองก็ไม่ค่อยแน่ใจนักว่าปีไหนที่จบการฝึกอบรม ฉะนั้นลำดับการฝึกอบรมทางศัลยศาสตร์ตกแต่งที่ผมพูดถึงจึงอาจไม่ใช่ลำดับที่ถูกต้องนัก จึงขออภัยผู้อ่านและเจ้าตัวเองด้วยถ้ามีการผิดพลาดเกิดขึ้น

แพทย์ไทยที่ไปต่างประเทศเพื่อการฝึกอบรมทางศัลยกรรมตกแต่งลำดับต่อไปคือ นายแพทย์ชูชาติ ทองชัช แห่งโรงพยาบาลตำรวจ ผู้ไปฝึกที่เยอรมนีตะวันตกในปี พ.ศ.2500 พ.ศ.2502 นายแพทย์วสันต์ จงเจษฎ์ และปี 2503 นายแพทย์นุกูล ปริญญานุสรณ์ ไปฝึกอบรมที่ประเทศอังกฤษ ต่อมาอี 2-3 ปี

สหรัฐอเมริกาก็เริ่มมีบทบาทสำคัญในการฝึกอบรมศัลยแพทย์ตกแต่งให้ประเทศไทย Board of Plastic Surgery ของสหรัฐอเมริกามีหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่กี่ปี แต่ในระยะเริ่มแรกไม่ได้อนุญาตให้คนต่างชาติสอบได้ สหรัฐอเมริกาได้กลายเป็นแหล่งผลิตศัลยแพทย์ตกแต่งให้แก่ประเทศไทยมากที่สุด

ขณะนี้ศัลยแพทย์ตกแต่งไทยส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ได้รับการฝึกอบรมจากสหรัฐอเมริกา และมีเป็นจำนวนมาก ไม่ต่ำกว่า 20 รายที่ยังอยู่ในสหรัฐอเมริกา แพทย์ไทยรุ่นแรกที่ได้ Board จากสหรัฐอเมริกา คือ นายแพทย์วิจิตร บุณยะโหตระ และนายแพทย์ประทีป โภคุกุล ใน พ.ศ.2510 ในปีต่อมามีอีก 3 ท่าน คือ นายแพทย์ดิษฐพงษ์ ชื่นกำไร นายแพทย์ถาวร จรูญสมิทธิ์ และนายแพทย์ประสาน สุดาจิต หลังจากนั้นก็มีนายแพทย์ปรียพาส นิลอุบล นายแพทย์มนัส เสถียรโชค เนื่องจากวิชาแขนงนี้มีงานมากมาย บางท่านก็ได้ฝึกอบรมเน้นหนัก เฉพาะบางแขนงของศัลยกรรมตกแต่ง เช่น นายแพทย์นิตน์ ศุภพงษ์ นายแพทย์ประกอบ ทองผิว นายแพทย์ปรีชา เตียวตรานนท์ ก็ได้ศึกษาทาง Maxillo-facial นายแพทย์วิวัฒน์ วิสุทธิโกศล ทางมือและ Burn

แพทย์ไทยคนหนึ่งที่น่าจะได้พูดถึงในที่นี้ คือ นายแพทย์พีระพล สุนทรผลิน ซึ่งถ้าไม่ใช้เพราะอุบัติเหตุรถยนต์ ทำให้เสียชีวิตขณะที่จะจบการฝึกอบรมอยู่แล้ว ก็คงจะเป็นกำลังที่สำคัญของสมาคมต่อไป

ศัลยแพทย์ตกแต่งที่ฝึกอบรมจากประเทศอื่นมีจำนวนไม่มากเท่ากับที่ได้รับการฝึกอบรมจากสหรัฐอเมริกา ที่อังกฤษนอกจากที่กล่าวมาแล้วข้างต้นก็มีนายแพทย์วิทยา พึ่งพาพงษ์ นายแพทย์ยิ่งยศ สันติธนานนท์ จากประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ มีนายแพทยืปรีชา เตียวตรานนท์ ประเทศเดนมาร์ก มีนายแพทย์ประกอบ ทองผิว สิงคโปร์เป็นอีกแห่งหนึ่งที่มีแพทย์เราไปดูงานทางด้านนี้ นายแพทย์วิทยา พึ่งพาพงษ์ จากญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่มีการก้าวหน้าอย่างมากในด้านศัลยกรรมตกแต่ง และเสริมสวย

หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 มีนายแพทย์ณรงค์ นิ่มสกุล ผู้ซึ่งมีประสบการณ์อย่างกว้างขวางในการใช้ Laser และเป็นผู้ที่ไปได้รับการฝึกอบรมทางด้านนี้จาก Kaplan ประเทศอิสราเอล

จาก พ.ศ.2523 เราเริ่มมีวุฒิบัตรของเราเอง คนแรกก็คือ นายแพทย์อาทิ เครือวิทย์ พ.ศ.2524 มีนายแพทย์มนตรี กิจมณี นายแพทย์สุกิจ เมฆรักษาวนิช แพทย์ไทยของเราหลายคนก่อนกลับประเทศไทยแวะไปดู Skoog Upsala, Sweden ที่ Karigiri, India ก็เป็นอีกแหล่งหนึ่งที่คนไปดู Dr. Brand ผ่าตัดผู้ป่วยโรคเรื้อน มีแพทย์ไทยจำนวนไม่น้อยที่สนใจในด้านศัลกรรมเสริมสวยและไปเข้า Post Graduate Instructional Course ที่จัดขึ้นโดย ISAPS ในประเทศต่างๆ แพทย์บางคนก็ไปดูการฉีดซิลิโคนในประเทศญี่ปุ่น และนำมาใช้ในประเทศไทย ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาขึ้นมากมายแต่เป็นที่น่ายินดีกว่าการทำเช่นนี้มีน้อยมากแล้ว

การใช้ซิลิโคนฉีดแม้ในประเทศญี่ปุ่นก็เป็นของที่ไม่ยอมรับกันในหมู่ศัลยแพทย์ตกแต่ง ข้อบ่งชี้ของการฉีดซิลิโคนนั้นมีอยู่แต่ผู้ที่ใช้สารฉีดซิลิโคนเป็นประจำไม่ได้ทำตามข้อบ่งชี้นั้นๆ และเมื่อมีสิ่งแทรกซ้อนเกิดขึ้นก็ต้องเป็นศัลยแพทย์ตกแต่ง ที่ต้องเข้าไปแก้ไขซึ่งมิใช่ของง่าย และบางทีก็เป็นของที่แก้ไขไม่ได้

ประมาณปี 2505 เริ่มมีการยอมรับเป็นทางการถึงการควรมีแพทย์เฉพาะทาง เริ่มด้วยคณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลป์ ตั้งแต่อนุกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลป์ในสาขาใหญ่ๆ เช่น ศัลยศาสตร์ อายุรศาสตร์ อนุกรรมการนี้ มีหน้าที่พิจารณาความรู้ ความชำนาญของแพทย์ที่ประสงค์จะขอขึ้นทะเบียนเป็นแพทย์เฉพาะทาง ต่อมาจึงมีการจำแนกแขนงย่อยๆ ลงไปอีก

ในปี 2507 ผมได้รับแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการในแขนงศัลยศาสตร์ตกแต่ง และในการได้รับแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการนี้ ได้รับสิทธิ์ที่จะขึ้นทะเบียนเป็นแพทย์เฉพาะทางโดยไม่สอบ เพื่อจะได้เป็นกรรมการสอบผู้ที่จะมาสมัครสอบเป็นแพทย์เฉพาะทางในสาขานั้นๆ ฉะนั้นผมจึงขึ้นทะเบียนเป็นศัลยแพทย์ตกแต่งคนแรกของประเทศ

ต่อมาในปี 2510 นายแพทย์วสันต์ จงเจษฎ์ ได้ขอสมัครสอบเป็นแพทย์เฉพาะทางในสาขาศัลยศาสตร์ตกแต่ง ผมได้เชิญให้นายแพทย์เฟื่อง สัตย์สงบ นายแพทย์พิสิฎฐ์ วิเศษกุล เป็นผู้ทรงคุณวุฒิร่วมเป็นกรรมการด้วย นายแพทย์วสันต์ ผ่านการสอบนี้และได้ขึ้นทะเบียนเป็นศัลยแพทย์ตกแต่งอีกคนหนึ่ง จากนั้นไม่มีผู้สอบอีกจนกระทั่งมีการเปลี่ยนระบบมาเป็นที่ของแพทยสภาที่จะพิจารณาเรื่องนี้ จึงเป็นอันว่าแพทย์เฉพาะทางในสาขาศัลยศาสตร์ตกแต่งที่ขึ้นทะเบียนกับ คณะอนุกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลป์มีเพียง 2 คนเท่านั้น

เมื่อแพทย์รุ่นแรกๆ จากสหรัฐอเมริกากลับมาเมืองไทยก็มีความคิดที่จะก่อตั้งสมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งแห่งประเทศไทยดังเช่นสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ร่วมกับผู้ที่อยู่ในเมืองไทยที่มีแนวความคิดนี้อยู่ก่อนแล้ว นายแพทย์จารุ นายแพทย์นุกูล นายแพทย์วสันต์ นายแพทย์พิสิฏฐ์ สมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งจึงได้อุบัติขึ้น มีการประชุมกันหลายครั้งเพื่อร่างธรรมนูญของสมาคม นายแพทย์ถาวร เป็นกำลังสำคัญในการประชุมเหล่านี้ ระยะเตรียมการนี้กินเวลาเกือบหนึ่งปี ใน พ.ศ.2513 เราได้ยื่นขอจดทะเบียนสมาคม ในการจดทะเบียนนี้นายแพทย์นุกูลรับไปจัดการแต่ผู้เดียว ทั้งๆ ที่นายแพทย์นุกูลมีผู้อำนวยความสะดวกให้หลายขั้นตอน

เราได้รับอนุมัติให้เป็นสมาคมเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2516 ซึ่งเป็นเวลานาน จากเวลาที่เราขอยื่นจะทะเบียน ก่อนหน้าได้รับอนุมัติให้จดทะเบียนได้ในปี พ.ศ.2514 สมาคมของเราได้เข้าสมาชิกของ International Confederation of Plastic and Reconstruction Surgery โดยอนุมัติของที่ประชุมใหญ่ที่กรุงเมลเบอร์น ขณะนั้นในเอเชียตะวันออกมีอยู่ 3 ประเทศเท่านั้นที่มีสมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งของชาติตัวเองก่อนประเทศไทย คือ ฟิลิปปินส์ อินเดีย และญี่ปุ่น สมาคมฯ ของประเทศเกาหลีได้สมัครเข้าเป็นสมาชิก Confederation พร้อมกับประเทศไทย ปัจจุบัน (ปี 2525) สมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งแห่งประเทศไทยมีสมาชิก 31 ท่าน ส่วนการฝึกอบรมศัลยศาสตร์ตกแต่งที่แพทยสภาอนุมัติไปแล้วมีสามสถาบันคือ ศิริราช จุฬาลงกรณ์ และรามาธิบดี ซึ่งต่อไปคงจะเพิ่มอีกไปเช่นที่เชียงใหม่ สงขลา ขอนแก่น และโรงเรียนแพทย์ทหาร

ในด้านการติดต่อทางวิชาการหรือการประชุมระหว่างประเทศ สมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งแห่งประเทศไทยเป็นสมาชิกของ IPRS, Asian Pacific และในการประชุม Asian Pacific ครั้งที่แล้วๆ ก็มีการทาบทามที่จะให้เราเป็นเจ้าภาพเนื่องจากเราคิดว่าเรายังไม่พร้อมดีนักจึงมิได้รับปาก ในการประชุม Asean ครั้งที่แล้วที่สิงคโปร์ 1982 เราก็ได้รับการทาบทามอีก สมาคมของเราได้ประชุมกันแล้วและรับที่จะเป็นเจ้าภาพการประชุม Asean ครั้งต่อไปในปี 1984 ที่กรุงเทพฯ ที่กล่าวมานี้มาจากความทรงจำและหลักฐานบางอย่างที่หามาได้ ซึ่งคิดว่าเป็นประโยชน์กับเพื่อนแพทย์และแพทย์รุ่นน้องๆ ต่อไป

 
 

คณะกรรมการบริหาร

 

นายกสมาคม

นายแพทย์อภิชัย อังสพัทธ์
Apichai Angspatt, M.D.

อุปนายก

นพ.พลากร สุรกุลประภา
Palakorn Surakulprapa, M.D.

 
IMG_0993.jpg

เลขาธิการ

นายแพทย์สิทธิโชค ทวีประดิษฐ์ผล
Sitthichoke Taweepraditpol, M.D

ผู้ช่วยเลขาธิการ

นพ.เสรี เอื่ยมผ่องใส
Seree Iamphongsai, M.D.


 
 

ที่ปรึกษา

นายแพทย์จรัญ มหาทุมะรัตน์

นายแพทย์อภิรักษ์ ช่วงสุวนิช

นายแพทย์กมล วัฒนไกร

นายแพทย์ศริชัย จินดารักษ์

นายแพทย์ประพาศน์ รัชตะสัมฤทธิ์

นายแพทย์อานนท์ ปิติเสรี

นายกสมาคม

นายแพทย์อภิชัย อังสพัทธ์

อุปนายก

นายแพทย์พลากร สุรกุลประภา

นายแพทย์เฉลิมพงษ์ ฉัตรดอกไม้ไพร

เลขาธิการ

นายแพทย์สิทธิโชค ทวีประดิษฐ์ผล

ผู้ช่วยเลขาธิการ

นายแพทย์เสรี เอีย่มผ่องใส

เหรัญญิก

นายแพทย์ยิ่งยศ สันติธนานนท์

วิชาการ

แพทย์หญิงพูนพิศมัย สุวะโจ

ผู้ช่วยฝ่ายวิชาการ

นายแพทย์พรเทพ สิรมิหาไชยกุล

นายแพทย์เก่งกาจ วินัยโกศล

ประชาสัมพันธ์

นายแพทย์ธนะสิทธิ์ ก้างกอน

ผู้ช่วยประชาสัมพันธ์

นายแพทย์วิษณุ โล่ห์สิริวัฒน์

นายแพทย์อดุลย์ชัย ธรรมาแสงเสริฐ

วิเทศสัมพันธ์

นายแพทย์สงวน คุณาพร

ผู้ช่วยวิเทศสัมพันธ์

นายแพทย์กิดากร กิระนันทวัฒน

กรรมการกลาง

นายแพทย์สรวุฒิ ชูอ่องสกุล

นายแพทย์พรเทพ พึ่งรัศมี

นายแพทย์ชัยรัตน์ บุรุษพัฒน์

นายแพทย์โอภาส พิณไชย

นายแพทย์ธิติ เชาวนลิขิต

นายแพทย์ธรรมนูญ พนมธรรม

ผู้แทนภาคตะวันออก

นายแพทย์เกรียงศักดิ์ ศิริรักษ์

ผู้แทนภาคใต้

แพทย์หญิงอรวรรณ ชาญสันติ