“เลเซอร์” นวัตกรรม เพื่อความงาม

เลเซอร์ (LASER) ย่อมาจาก “Light Amplification by the Stimulated Emission of Radiation” ซึ่งหมายถึง การแผ่รังสีที่เกิดจากการกระตุ้นแบบร้าวผ่านตัวกลางเลเซอร์ (laser medium) ส่งผลให้พลังงานแสงออกมาในทิศทางเดียวกัน ความยาวคลื่นเดียวกัน มีเฟสคลื่นตรงกัน ส่งผลทำให้เกิดการขยายสัญญาณ (amplitude) จึงทำให้แสงของเลเซอร์มีความเข้มหรือจ้ามากกว่าแสงที่มาจากตามธรรมชาติ

 
ภาพแสดงองค์ประกอบหลักของเครื่องเลเซอร์

ภาพแสดงองค์ประกอบหลักของเครื่องเลเซอร์

 

แสงเลเซอร์ vs แสงธรรมชาติ

แสงตามธรรมชาติ มีการเปล่งแสงซึ่งจะเป็นแบบเกิดขึ้นเอง (spontaneous emission) มีหลายความยาวคลื่น (Polychromaticity) และแสงเหล่านี้เดินทางหลายทิศทาง (Incoherence) มีเฟสหรือระยะไม่พร้อมเพรียมกันแม้จะให้ความสว่างและพลังงานคือความร้อนได้ แต่ก็มีความเข้มข้นต่ำ ส่วนแสงเลเซอร์นั้นจะมีคุณสมบัติพิเศษของแสง 3 อย่าง คือ

1. แสงเลเซอร์แต่ละชนิดจะมีความยาวคลื่นจําเพาะเพียงค่าเดียว (Monochromaticity)

2. แสงเดินทางอย่างเป็นระเบียบ ทุกคลื่นเลเซอร์มีเฟสตรงกันทำหน้าที่พร้อมกันเพื่อให้ทุกอนุภาคของแสงเสริมกัน (Coherency)

3. แสงเดินทางในทิศเดียวกันและขนานกัน (collimation)

ด้วยคุณสมบัติพิเศษของแสงเลเซอร์ดังกล่าวข้างต้น จึงนำมาใช้ประยุกต์เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อเนื้อเยื่อของร่างกาย ไม่ว่าเป็นการกระตุ้นเพื่อสร้างโครงสร้างคอลลาเจน หรือการใช้ความเข้มข้นสูง เพื่อจุดประสงค์ ในการตัดหรือทําลายเนื้อที่ไม่ต้องการ เช่น การใช้เลเซอร์ในการตัดเนื้องอก ตัดหูด ไฝ เป็นต้น

ประเภท ของ เลเซอร์

การแบ่งประเภทของเลเซอร์และการเรียกชื่อเลเซอร์นั้นจะแบ่งตาม เทคโนโลยีการผลิตหรือวัตถุประสงค์ของการใช้ ดังนี้

1. แบ่งตามตัวกลางแหล่งกําเนิดแสงเลเซอร์ ที่เป็นตัวเก็บพลังงาน และปล่อยแสงเลเซอร์ออกมาซึ่งอาจเป็นของแข็ง ของเหลว หรือก๊าซ เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เรียกว่า CO2 Laser ก๊าซฮีเลียมนีออน (HeNe) เรียก ฮีเลี่ยมนีออนเลเซอร์ ก๊าซอาร์กอน (Ar) เรียก Argon beam laser เป็นต้น ของแข็ง เช่น ผลึกทับทิม (Ruby) เรียกว่า Ruby Laser ผลึกแย็ค เรียกว่า Nd: Yag laser เป็นต้น ของเหลว เช่น สารย้อม (Dye) เรียกว่า Pulse dye laser เป็นต้น

2. แบ่งตามระดับพลังงานของแสงเลเซอร์ เพื่อจุดประสงค์ในการ ประยุกต์ใช้กับเนื้อเยื่อ หรือการเปลี่ยนแปลงทางชีวภาพของเนื้อเยื่อ ได้แก่

กลุ่มเลเซอร์ พลังงานสูง (High Power Laser) เป็นระดับพลังงานที่สูงเพื่อทำลายเนื้อเยื่อที่เป็นโปรตีนให้เสื่อมสลายและไหม้ เช่นเลเซอร์ที่ใช้ในการผ่าตัด และห้ามเลือดต่างๆ

กลุ่มเลเซอร์ พลังงานระดับกลาง (Moderate Power Laser) เป็นระดับพลังงานที่กระตุ้นให้เนื้อเยื่อ มีการเปลี่ยนแปลงจนถึงระดับที่ต้องการทำลายเป้าหมาย ครั้นเมื่อหยุดการใช้เลเซอร์แล้วจะไม่ทำลายเนื้อเยื่อข้างเคียงต่างๆ เช่น การใช้เลเซอร์เพื่อลดความผิดปกติของเม็ดสี เป็นต้น

กลุ่มเลเซอร์ พลังงานต่ำ (Low Level Laser) เป็นการใช้เลเซอร์ในคลื่นความถี่ระดับหนึ่งเพื่อให้พลังงานที่ไม่สูงเกินไป โดยหวังผลกระตุ้นในการเสริมสร้างมากกว่าการทำลาย เช่น การใช้ Low Level Laser เพื่อกระตุ้นการหายของแผล กระตุ้นการไหลเวียนต่างๆ เป็นต้น

3 . แบ่งตามวัตถุประสงค์ของการใช้เลเซอร์ เช่นเลเซอร์เพื่อการผ่าตัดหรือห้ามเลือด (Cutting Laser) เลเซอร์เพื่อความงามและฟื้นฟู (Aesthetic and Rejuvenation Laser) เลเซอร์เพื่อการรักษา (Laser Therapy) เช่น เลเซอร์เพื่อระงับความปวดบวมต่างๆ เลเซอร์เพื่อช่วยกระตุ้นการหายของแผล เป็นต้น

การประยุกต์ ใช้เลเซอร์ กับงานด้าน ศัลยกรรม

หากเปรียบการสร้างบ้านให้ได้สัดส่วนสวยงาม เป็นเสมือนการผ่าตัด ทําศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าและลําคอ ซึ่งเราต้องการผ่าตัดตกแต่งเพื่อดึง ผิวหนังส่วนเกินให้ตึงนั้น เป็นการดึงในระดับตั้งแต่ชั้นใต้เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (SMAS หรอื Platysma Band) ในระดับ ตั้งแต่คอขึ้นไปจนถึงใบหน้าส่วนบน

ส่วนผิวหนังที่อยู่ชั้นนอกเสมือนดั่งหลังคาบ้าน และผนังบ้านที่ไม่สามารถแก้ไขงานรายละเอียดย่อยนี้ได้โดยการผ่าตัด การประยุกต์ใช้เลเซอร์ จึงเปรียบเสมือนการใช้พู่กันทาระบายสี เพื่อบรรจงเก็บและตกแต่งให้บ้านดูสวยงามสง่านั่นเอง

การใช้เลเซอร์ประยุกต์ร่วมกับการทำศัลยกรรมตกแต่งนั้นมีจุดประสงค์หลักๆ 3 ประการ คือ

1. เพื่อกระตุ้นให้ผิวพรรณเต่งตึงมากขึ้น (Skin Rejuvenation)

โดยมีจุดประสงค์ 2 อย่าง คือ แก้ไขปัญหาเรื้อรังที่ทําให้ผิวหนังเสื่อม คุณภาพซึ่งเป็นผลกระทบจากแสงแดดและมลภาวะ เช่น เม็ดสีที่เข้มขึ้น ฝ้า กระ เส้นเลือดฝอย หรือริ้วรอยต่างๆ และอีกวัตถุประสงค์ คือส่งเสริมให้ ผิวหนังเต่งตึงในระยะยาว ร่วมกับการผ่าตัดดึงหน้าและคอ ซึ่งผลของแสงเลเซอร์นั้นจะช่วยในการกระตุ้นเซลล์ผิวหนัง (Fibroblasts) และช่วยส่งเสริม การสร้างเส้นใยผิวหนังให้แข็งแรงมากขึ้น (Collagen and Elastin) การทําเลเซอร์เพื่อหวังผลให้ผิวหนังเต่งตึง (Skin Rejuvenation) ร่วมกับการผ่าตัดแนะนําให้ทําหลังผ่าตัดไปแล้วประมาณ 1 เดือน

2. เพื่อลดภาวะแผลเป็นอันไม่พึงประสงค์ (Scar Reduction)

การประยุกต์ใช้เลเซอร์นั้น จะเป็นกลุ่มเลเซอร์ที่มีเป้าหมายไปที่เม็ดสี Hemoglobin เช่น กลุ่ม Pulse dye laser ซึ่งจะทําให้แผลเป็น มีอาการแดงน้อยลง นิ่มขึ้น และลดนูนลง เป็นการป้องกันไม่ให้แผลนูนเกินขอบเขต แผลนานเกินไป จนกลายเป็นคีลอยด์ โดยมีข้อแนะนําในการใช้เลเซอร์เพื่อลดแผลเป็น ดังนี้

แนะนําให้ใช้ในกรณีที่มีประวัติว่ามีความเสี่ยงในการเกิดแผลเป็น นูน ได้แก่ มีประวัติกรรมพันธุ์ เป็นคีลอยด์ง่าย ผิวมันและสีแทนหรือคล้ำ (Fitzpatrick’s skin types III) ขึ้นไป และในกรณีที่มีความพร้อม เช่น มีเครื่องมือเลเซอร์และสามารถจ่ายค่ารักษาได้ ไม่แนะนำให้ใช้เลเซอร์รักษาแผลเป็นแนะนำให้ใช้เลเซอร์รักษาแผลเป็นและป้องกันแผลเป็นทุกกรณี หาก ไม่มีประวัติเสี่ยงในการเกิดแผลเป็นนูนต่างๆ

เลเซอร์จะมีประโยชน์ในช่วง 1 ถึง 6 เดือน หลังจากการผ่าตัด จึง แนะนําให้ใช้ร่วมกับวิธีอื่นๆ ในการรักษาแผลเป็น ได้แก่ ปิดด้วยแผ่นซิลิโคน (Silicone Sheet) หรือใช้ยาทาร่วมกับนวดคลึงบ่อยๆ และควรจะต้องใช้ ครีมกันแดดทาป้องกันร่วมด้วย

3. เพื่อช่วยให้ผิวหนังเต่งตึงมากขึ้น (Skin Tightening)

บางครั้งการผ่าตัดดึงหน้า คอ เพื่อให้เต่งตึงขึ้น สามารถแก้ไขปัญหาหย่อนคล้อยอย่างเห็นได้ชัดทันที โดยเฉพาะผิวหนังส่วนเกินและส่วนของ เนื้อเยื่อเกี่ยวพันใต้ผิวหนังที่หย่อนยาน แต่ในกรณีที่คุณภาพผิวหนังมีความยืดหยุ่นมาก (Poor Skin Quality and Low Elasticity) เมื่ออาการบวมจากการผ่าตัดหายหมด ความหย่อน บางจุด บางส่วนของใบหน้าและลําคอ อาจยังคงมีให้เห็นอยู่ ดังนั้นการประยุกต์ใช้เลเซอร์เพื่อเพิ่มความเต่งตึงและกระชับผิวหนัง จึงสามารถช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนใต้ผิวหนัง อันจะช่วยเพิ่มคุณภาพของผิวหนังมากขึ้น แนะนําให้ทําหลังจากการผ่าตัดแล้ว 1 เดือนขึ้นไป อย่างน้อยทุก 1 เดือน

 
ภาพแสดงก่อนและหลังการใช้เลเซอร์ร่วมในการรักษาหลังผ่าตัดดึงหน้า และใช้เลเซอร์ร่วมในการรักษาแผลเป็นหลังผ่าตัดที่ 1 ปี หลังผ่าตัด (Q-switch laser for post operative facial rejuvenation, Pulse dye laser for scar treatment)

ภาพแสดงก่อนและหลังการใช้เลเซอร์ร่วมในการรักษาหลังผ่าตัดดึงหน้า และใช้เลเซอร์ร่วมในการรักษาแผลเป็นหลังผ่าตัดที่ 1 ปี หลังผ่าตัด (Q-switch laser for post operative facial rejuvenation, Pulse dye laser for scar treatment)

 

การประยุกต์ใช้เลเซอร์ เพื่อความงามในด้านอื่นๆ

1. เลเซอร์สําหรับรักษาความผิดปกติของสีผิว เช่น ฝ้า กระ รอยดําต่างๆ เป็นต้น

ความผิดปกติของเม็ดสี เกิดจากความผิดปกติของเม็ดสีเมลานิน (Melanin Pigment) ซึ่งปกติจะอยู่ที่ระดับความลึกของผิวหนัง บริเวณรอยต่อระหว่างหนังชั้นกําพร้าและชั้นหนังแท้ ความผิดปกติของสีนั้นบางอย่าง อยู่ตื้นสามารถใช้เลเซอร์ในการรักษาได้ แต่บางอย่างอยู่ลึกซึ่งไม่สามารถ ใช้เลเซอร์ในการรักษาได้ จําเป็นต้องใช้การผ่าตัดร่วมด้วย เป้าหมายของการ ใช้เลเซอร์เพื่อการรักษาความผิดปกติของสีผิวน้ัน เพื่อทําลายเม็ดสีเมลานิน (Melanin Pigment) ซึ่งเลเซอร์ที่เหมาะสมและได้ผล คือ

  • ระบบ Q Switch เลเซอร์ ถือเป็นมาตรฐานของการนํามาใช้รักษา ความผิดปกติของเม็ดสีในผิวหนัง ข้อดีคือ มีความจำเพาะเจาะจงต่อเม็ดสี เมลานินสูงอีกทั้งกระทบต่อเนื้อเยื่อรอบข้างน้อย จึงมีโอกาสเกิดรอยแผลเป็นหลังทำน้อยมากส่วนข้อเสียคือ ความแม่นยําและผลของการรักษาขึ้นกับ ความรู้ความชํานาญ (Skill and Knowledge) ของแพทย์ที่รักษา และมีโอกาสที่จะเกิดรอยดําหลังทําเลเซอร์ได้ (Post Inflammatory Hyperpig- mentation) โดยเฉพาะในคนที่ผิวสีแทนหรือสีดํา

  • ระบบแสง IPL (Intent Pulsed Light) สามารถประยุกต์ในการรักษา เม็ดสีผิดปกติตื้นๆ เช่น กระแดด (Lentigines) และกระตื้น (Freckles) โดยการเลือกใช้ความยาวคลื่นที่เหมาะสม ข้อดีคือสามารถปรับได้หลายความยาวคลื่นเพื่อจุดประสงค์ในการนำมาใช้รักษา โอกาสเกิดรอยดำหลังทำมีน้อย (Post inflammatory Hyperpigmentation) ส่วนข้อเสียคืออาจ ต้องทําหลายครั้งปกติอย่างน้อย 3-5 ครั้ง โอกาสการกลับมาเป็นซ้ำ หรือเกิดรอยดําซ้ำจะเร็วและบ่อยกว่า

ตัวอย่างพยาธิสภาพของสีผิวหรือเม็ดสีที่พบบ่อย ซึ่งสามารถ ประยุกต์ใช้เลเซอร์ในการรักษามีดังนี้

กระแดด (Lentigines) จะมีลักษณะเป็นจุดสีน้ำตาลผิวเรียบขนดเล็กกว่า 1 เซนติเมตร กระจายอยู่บริเวณใบหน้าหรือบริเวณนอกร่มผ้าอื่นๆ เช่น กระที่แขน เป็นต้น โดยแสงแดดเป็นสาเหตุหลักของกระชนิดนี้ ซึ่งกระแดดจะมีสีเข้มขึ้นเมื่อถูกแสงแดด และเมื่ออายุมากขึ้นมักพบในวัยผู้ใหญ่ และผู้ที่อยู่ท่ามกลางแสงแดดเป็นเวลานานๆ

กระตื้น (Freckles) มีลักษณะเป็นจุดสีน้ำตาลเล็กๆผิวเรียบขนาดประมาณ 0.5 มิลลิเมตร กระจายอยู่บริเวณใบหน้าและลำคอ กระชนิดนี้หากผิวโดนแสงแดดเป็นเวลานานๆ กระจะมีสีเข้มขึ้นและหากหลีกเลี่ยงแสงแดด เป็นเวลานานๆ กระก็จะมีสีจางลงได้เอง พบบ่อยในคนผิวขาว และอาจเป็นตั้งแต่อายุน้อยๆ ได้

กระเนื้อ (Seborrheic keratosis) มีลักษณะเป็นก้อนเนื้อนูน ออกมาเป็นตุ่มผิวเรียบหรือขรุขระ ยื่นออกมาจากผิวหนัง บริเวณใบหน้า ลำคอ หรือลำตัว มักมีสีน้ำตาลหรือสีดำก็ได้ ซึ่งกระชนิดนี้มีสาเหตุเกิดจากพันธุกรรม พบในคนอายุ 30-40 ปีขึ้นไป

ปานโอตะ (Nevus of Ota) เป็นรอยโรคที่พบแต่กําเนิด พบบ่อยในคนเอเชีย ลักษณะของสีผิวที่ผิดปกติอาจแสดงออกได้ตั้งแต่แบบที่เป็นสีน้ำตาล สีน้ำตาลม่วง จนกระทั่งสีน้ำตาลออกน้ำเงิน ปานชนิดนี้แนะนําให้ใช้เลเซอร์ในการรักษาต้ังแต่วัยเด็กโดยเฉพาะก่อนเข้าโรงเรียนเพื่อให้ผลการรักษาที่ดีกว่าและช่วยลดผลกระทบทางด้านจิตใจในการเข้าสู่สังคมในโรงเรียนหรือเมื่อโตขึ้นด้วย

กระลึก (Hori’ s Nevus) รอยโรคจะพบเป็นสีน้ำตาลเข้มหรือสีน้ำตาลเทา ส่วนใหญ่จะพบในเพศหญิงมากกว่าชายในช่วงอายุ 20–30 ปี อาจมีประวัติทางกรรมพันธุ์ร่วมด้วย ตําแหน่งที่เป็นจะพบบริเวณโหนกแก้ม ทั้งสองข้างบ่อยรอยโรคชนิดนี้จะต้องแยกออกจากฝ้า ส่วนการรักษาโดยการใช้เลเซอร์ ระบบ Q-Switch ในการรักษาจะได้ผลค่อนข้างดี

ฝ้า (Melasma) รอยโรคที่พบบ่อยในคนเอเชีย รอยโรคมีลักษณะสีน้ำตาลอ่อนถึงเข้มโดยสาเหตุการเกิดยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีปัจจัยเสริมได้แก่ การใช้ยาคุมกําเนิดหรือฮอร์โมนเพศ การสัมผัสกับแสงแดดเป็นประจําอย่างต่อเนื่อง หรืออาจจะเป็นหลังจากการตั้งครรภ์เป็นต้น ตําแหน่งที่พบฝ้าบ่อย ได้แก่ บริเวณโหนกแก้มคาง หรือหน้าผาก การรักษาที่ดีที่สุดจะเป็นการรักษาแบบผสมผสาน ร่วมกับการป้องกันสาเหตุเป็นหลัก สําหรับการใช้เลเซอร์ในการรักษาฝ้านั้นยังได้ผลไม่ดีเท่าที่ควร และการประยุกต์ใช้จะต้องอาศัยความเชี่ยวชาญในการเลือกใช้เลเซอร์ที่เหมาะสมเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน ที่อาจเกิดขึ้นด้วย

ปานชนิดลึก ที่เป็นมาตั้งแต่กําเนิด และมีสีดําเข้มเป็นปื้นใหญ่ๆ ได้แก่ Junctional, Compound Melanocytic Nevus หรือ Congenital Melanocytic Nevus เหล่านี้มักไม่ได้ผลดีต่อการใช้เลเซอร์ในการรักษา เนื่องจากรอยโรคของเม็ดสีอยู่ลึก และพบว่าความผิดปกติของเม็ดสีเหล่านี้ เมื่อปล่อยทิ้งไว้นานจะมีโอกาสหรือเพิ่มความเสี่ยงต่อการกลายเป็นมะเร็งผิว หนังได้ ฉะนั้นรอยโรคกลุ่มนี้ควรปรึกษาศัลยแพทย์ตกแต่ง เพื่อวางแผนการรักษาโดยเฉพาะการผ่าตัดแก้ไขตกแต่งร่วมด้วย

 
ภาพแสดงก่อนและหลังการใช้ Q-switch laser 4 ครั้ง ทุก 4 สัปดาห์ ในการรักษากระลึกบริเวณโหนกแก้ม

ภาพแสดงก่อนและหลังการใช้ Q-switch laser 4 ครั้ง ทุก 4 สัปดาห์ ในการรักษากระลึกบริเวณโหนกแก้ม

 
 
ภาพแสดงก่อนและหลัง การใช้ IPL 6 ครั้ง ทุก 4 สัปดาห์ ในการรักษากระลึก และกระตุ้นริ้วรอยบริเวณใบหน้า

ภาพแสดงก่อนและหลัง การใช้ IPL 6 ครั้ง ทุก 4 สัปดาห์ ในการรักษากระลึก และกระตุ้นริ้วรอยบริเวณใบหน้า

 

2. เลเซอร์สําหรับแผลเป็นนูนทั่วไป (Hypertrophic Scar) และแผลเป็นชนิด คีลอยด์ (Keloid)

แผลเป็นนูนทั่วไป (Hypertrophic Scar) เป็นแผลเป็นนูนที่เกิดตามหลังของรอยบาดแผล หรือตามหลังแผลผ่าตัด โดยเฉพาะในช่วง 1-6 เดือน แรก ลักษณะรอยโรคจะนูนแดง แข็ง และขอบรอยนูนจะอยู่ในขอบเขตของบาดแผลเดิม

ส่วนแผลเป็นชนิดคีลอยด์นั้นมีลักษณะแผลเป็นนูน หนา แข็ง และ อาจมีสีชมพู ถึงแดง โดยขอบแผลนูนนั้นจะโตเลยออกนอกกรอบของขอบเขต แผลเดิม อาจมีอาการเจ็บหรือคันร่วมด้วย

แผลเป็นชนิดคีลอยด์จะพบได้บ่อยในผิวหนัง ที่ค่อนข้างคล้ำ มีต่อมไขมันมาก และพบว่าสัมพันธ์กับประวัติทางพันธุกรรมได้ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์

เลเซอร์ที่เหมาะสมสําาหรับการรักษาแผลเป็นชนิดนี้ ได้แก่

Pulse dye Laser จุดประสงค์ของการใช้เลเซอร์ชนิดนี้ เพื่อไปทำลายหลอดเลือดเล็กๆที่มาหล่อเลี้ยงแผลเป็นส่งผลให้รอยแผลเป็นนูนนั้น มีอาการแดงน้อยลงและนิ่มขึ้น แต่แนวทางการรักษาแผลเป็นนูนนั้น อาจจะต้องใช้หลายวิธีร่วมกัน เช่น การใช้แผ่นซิลิโคน (Silicon Sheet) แปะปิด แผล การฉีดยากลุ่มสเตียรอยด์ใต้แผลเป็นนั้น เพื่อหวังให้แผลเป็นนิ่มขึ้นและยุบลงเช่นกัน

ส่วนการจะใช้ยาสเตียรอยด์ฉีดร่วมกับการใช้เลเซอร์เพื่อการรักษาน้ัน แนะนําให้ใช้เลเซอร์ก่อนแล้วตามด้วยการฉีดยาสเตียรอยด์ เพื่อให้พลังงานเลเซอร์ได้ไปมีปฏิกิริยาที่เป้าหมายคือ เส้นเลือดเล็กๆได้ดีก่อนฉีดยา แนะนำให้ทำทุก 4-6 สัปดาห์จนกว่าอาการจะดีขึ้น

ส่วนการแปะด้วยแผ่นซิลิโคน (Silicon Sheet) แนะนำปิกไว้ตลอดทุกวัน ยกเว้นเวลาอาบน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 3 เดือนแรกของการเกิดแผลเป็น

 
ภาพแสดงก่อนและหลังการใช้  Pulse dye laser  3 ครั้งทุก 4 สัปดาห์ ในการรักษาแผลเป็นชนิดคีลอยด์

ภาพแสดงก่อนและหลังการใช้ Pulse dye laser 3 ครั้งทุก 4 สัปดาห์ ในการรักษาแผลเป็นชนิดคีลอยด์

 
 
ภาพแสดงก่อนและหลังการใช้  Nd: YAG laser รักษาแผลเป็นนูน แบบ  Hypertrophic scar

ภาพแสดงก่อนและหลังการใช้ Nd: YAG laser รักษาแผลเป็นนูน แบบ Hypertrophic scar

 

3. เลเซอร์สําหรับรอยแดงจากสิวและแผลเป็นจากหลุมสิวหรือแผล เป็นชนิดลึก (Post Acne Scar and Atrophic scar)

พยาธิสภาพของรอยแดงจากสิว หรือแผลเป็นชนิดกลุ่มนี้ คือ โครงสร้างคอลลาเจนหดตัวลง และเกิดเส้นเลือดมาเลี้ยงบริเวณรอยโรคค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะในช่วง 1-3 เดือนแรก หลังเกิดรอยแผลเลเซอร์ที่เหมาะสมในการรักษาคือ Pulse dye Laser ซึ่งเป้าหมายในการใช้แสงเลเซอร์เพื่อทำให้หลอดเลือดฝ่อหายไป และกระตุ้นการสร้างเส้นใยคอลลาเจน อันจะทําให้รอยแดงจางลงและแผลเป็นตื้นขึ้น

 
ภาพแสดงก่อนและหลังการใช้เลเซอร์ ในการรักษารอยแผลเป็นชนิดหลุม

ภาพแสดงก่อนและหลังการใช้เลเซอร์ ในการรักษารอยแผลเป็นชนิดหลุม

 
 
ภาพแสดงก่อนและหลังการใช้  pulse dye laser ในการรักษารอยแดงจากสิวและรอยหลุมสิว

ภาพแสดงก่อนและหลังการใช้ pulse dye laser ในการรักษารอยแดงจากสิวและรอยหลุมสิว

 

4. เลเซอร์รักษาความผิดปกติของหลอดเลือดผิวหนัง (LaserTreatment of Vascular Lesions)

ความผิดปกติของหลอดเลือดผิวหนัง ที่สามารถตอบสนองดีต่อการใช้เลเซอร์ ในการรักษานั้นสามารถแบ่งได้เป็น

ความผิดปกติของหลอดเลือดตั้งแต่กําเนิด ซึ่งได้แก่

ปานแดงแต่กำเนิด (Port -wine Stains) การใช้เลเซอร์ในการรักษาปานแดงแต่กำเนิดนั้นให้ผลตอบสนองค่อนข้างดีแนะนำให้เริ่มรักษาเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เลเซอร์ที่เหมาะสม ได้แก่ Pulse dye Laser (595nm)

เนื้องอกของหลอดเลือด (Hemangioma) รอยโรคชนิดนี้พบบ่อยบริเวณศรีษะและลำคอ ส่วนมากจะหยุดเติบโตในขวบแรก และส่วนใหญ่ 50 เปอร์เซ็นต์ จะฝ่อหดตัวลงได้เองภายใน 5 ปีแรก การใช้เลเซอร์รักษานั้น ไม่ใช่วิธีแรกที่จะใช้รักษารอยโรคนี้ การใช้เลเซอร์จะทําในกรณีที่ผู้ป่วยมีข้อห้ามในการฉีดยากลุ่มสเตียรอยด์เพื่อรักษา หรือรอยโรคที่มีแผลหรือมี เลือดออก เป็นต้น

กลุ่มเส้นเลือดฝอยที่เกิดตามหลังเมื่อโตขึ้น พบได้ทั่วไปบริเวณ ใบหน้า บริเวณขา (Telangiectasia, Spider Nevi, Cherry angioma) ส่วนใหญ่เป็นเส้นเลือดฝอยที่มีขนาดเล็กมากๆ ประมาณ 1 มิลลิเมตร รอยโรคกลุ่มนี้จะตอบสนองดีต่อการใช้เลเซอร์ชนิด Pulse Dye Laser (595 nm) KTP (532 nm) หรือแม้แต่ IPL (500-1200 nm)

 
ภาพแสดงการใช้  Pulse Dye laser 12 สัปดาห์ในการรักษาปานแดงแต่กําเนิด

ภาพแสดงการใช้ Pulse Dye laser 12 สัปดาห์ในการรักษาปานแดงแต่กําเนิด

 

5. เลเซอร์กําจัดขนอันไม่พึงประสงค์ (Laser Treatment of Un- wanted Hair)

เนื้อเยื่อเป้าหมายที่ดูดซึมพลังงานเลเซอร์แล้ว ทําให้สามารถกําจัดขน หรือยับยั้งการงอกของขนใหม่ได้ คือ เม็ดสีเมลานิน (Melanin Pigment) ซึ่งอยู่ในรากขน ฉะนั้นขนสีดําจะตอบสนองต่อการใช้เลเซอร์ได้ดีกว่าขนสีขาว หรือสีน้ำตาล ปัจจุบันมีการพัฒนาเลเซอร์และแหล่งกําเนิดแสงหลายชนิด เพื่อเป้าหมายการกําจัดขน ได้แก่ Long-Pulse Nd: Yag (1064 nm), Long Pulse Ruby (694 nm), Long-Pulse Alexandra (755 nm), Diode (800 nm) หรือ IPL (590-1200nm)

 
ภาพแสดงก่อนและหลังใช้  Long-Pulse Nd: Yag (1064) กําจัดขนรักแร้ ที่ 8 สัปดาห์

ภาพแสดงก่อนและหลังใช้ Long-Pulse Nd: Yag (1064) กําจัดขนรักแร้ ที่ 8 สัปดาห์

 

6. เลเซอร์รักษาเนื้องอกผิวหนังชนิดไม่ใช่มะเร็ง (Laser Treatment of Benign Skin Lesions)

ลักษณะที่พบบ่อยได้แก่ ไฝ (Nevus) หูด (Wart) ติ่งเนื้อ (Skin tag) กระเนื้อ (Seborrheic Keratosis) ก้อนคอเลสเตอรอลใต้ผิวหนัง (Xan- thelasma) รอยโรคเหล่านี้จะอยู่ในชั้นหนังกำพร้า มีน้ำเป็นส่วนประกอบหลัก การใช้เลเซอร์ที่ปล่อยคลื่นแสงซึ่งสามารถดูดซึมน้ำได้ดีนั้น ได้แก่ เลเซอร์ คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2 Laser) แต่การใช้เลเซอร์ชนิดนี้จะต้องใช้อย่างระมัดระวังโดยแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเพื่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนน้อยที่สุด โดยเฉพาะการเกิดแผลเป็น (Scar) และรอยดำ(Post Inflammatory Hyper- pigmentation) หรือรอยด่างขาว (Hypopigmentation) ที่อาจเกิดขึ้นหลังจากทำเลเซอร์ เป็นต้น

7. เลเซอร์ที่ใช้เพื่อการปรับสภาพผิวหนัง (Laser Skin Resurfacing)

การใช้เลเซอร์กลุ่มนี้เพื่อปรับผิวหน้าให้ดูอ่อนเยาว์และเนียนขึ้น โดยเฉพาะผิวหน้าที่สัมผัสแสงแดดมาเป็นเวลานาน หรือมีรอยแผล ที่มีลักษณะเป็นหลุมต่างๆ โดยผลของพลังงานเลเซอร์นั้นจะส่งผลให้ผิวหนังส่วนบนสุดถูกกรอ หรือกร่อนออก (Resurface) มีการหดตัวของเส้นใยคอลลาเจน (Collagen Contraction) และส่งเสริมให้มีการสร้างเส้นใยคอลลาเจนขึ้นมาใหม่ (Collagen Remodeling) เลเซอร์ที่นำมาใช้ในการปรับสภาพผิวนั้น ได้แก่ เลเซอร์ Pulse Carbon Dioxide (CO2 laser) และ เลเซอร์ Short -Pulse Erbium: Yag

ในทางปฏิบัติ การใช้เลเซอร์เพื่อปรับสภาพผิวนั้น มีการประยุกต์ใช้เลเซอร์ตั้งแต่ชนิดที่มีแผล (Abrative) ชนิดที่มีแผลน้อย (Semi Abrative) และชนิดที่ไม่มีแผล (Non Abrative) ทั้งนี้การเลือกใช้วิธีใดนั้นจะต้องคํานึงถึงลักษณะผิวหนังของผู้ป่วย ปัญหาหลักของผิวหนัง รวมทั้งความคาดหวังและการติดตามดูแลอาการของผู้ป่วยเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการเลือกใช้เลเซอร์ปรับสภาพผิวชนิดมีแผลนั้น (Abrative) ไม่เหมาะสมกับผิวสีแทนหรือสีคล้ำของคนไทยซึ่งมีโอกาสเกิดรอยดำ (Post Inflammatory Hyperpigmentation) หรือภาวะแทรกซ้อนอื่นๆตามมาสูง เมื่อเทียบกับผิวหนังที่ขาวแบบชาวตะวันตก เป็นต้น

 
ภาพแสดงก่อนและหลัง การปรับสภาพผิวรักษาหลุมสิวและริ้วรอย ด้วยเลเซอร์  Er: YAG ที่  4 เดือน

ภาพแสดงก่อนและหลัง การปรับสภาพผิวรักษาหลุมสิวและริ้วรอย ด้วยเลเซอร์ Er: YAG ที่ 4 เดือน

 
 
]ภาพแสดงก่อนและหลังการใช้เลเซอร์ปรับสภาพผิวแบบไม่มีแผล ด้วย  Nd: YAG (1064) สลับร่วมกับ IPL ที่ 3 เดือน

]ภาพแสดงก่อนและหลังการใช้เลเซอร์ปรับสภาพผิวแบบไม่มีแผล ด้วย Nd: YAG (1064) สลับร่วมกับ IPL ที่ 3 เดือน

 

8. เลเซอร์ที่ใช้เพื่อรักษาแผล (Laser for wound Healing)

แสงเลเซอร์ช่วยกระตุ้นระบบไหลเวียนทั้งระบบน้ำเหลือง และระบบไหลเวียนโลหิตให้ดีขึ้น กระตุ้นการทํางานของเซลล์ ส่งผลให้เกิดการสร้างเส้นเลือดใหม่ รวมทั้งกระตุ้นให้เซลล์แบ่งตัว ทําให้แผลต่างๆหายเร็วขึ้น จากความรู้ดังกล่าวได้มีการพัฒนาเทคโนโลยี แหล่งกำเนิดแสงให้เหมาะสมต่อจุดประสงค์ที่จะนำไปใช้ เช่น ระบบแสง LED (Light-Emitting Diodes) ปล่อยพลังงานเพื่อกระตุ้นเซลล์ต่างๆ ตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวข้างต้น

นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาแหล่งกําเนิดแสงเลเซอร์ให้มีความยาวคลื่นเฉพาะและปล่อยระดับพลังงานต่ำ (25-500 mW) เรียกว่า Low Level Laser Theraphy ระบบแสงเลเซอร์กลุ่มนี้จะไม่หวังผลทําลายเนื้อเยื่อ แต่ความจําเพาะเจาะจงของความยาวคลื่นที่เหมาะสมจะส่งผลกระตุ้นระดับเซลล์โดยตรง (Mitochondria activation) ส่งผลให้เกิดความแม่นยำต่อการรักษาและการประยุกต์ใช้ ไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นการหายของแผล กระตุ้นระบบไหลเวียนต่างๆ ส่งผลให้ลดอาการปวด บวม ช้ำ ได้

สําหรับการใช้เลเซอร์ในการรักษาแผลนั้นเป็นแค่ทางเลือกหนึ่งในการรักษา (Alternative Bridging Therapy) เท่านั้น โดยเฉพาะในตําแหน่งที่ดูแลยากหรือในผู้ป่วยที่มีปัจจัยต่างๆ ที่ทําให้แผลหายช้ากว่าปกติ เป็นต้น

 
ภาพแสดงผลการประยุกต์ใช้  low level laser therapy ในการรักษาที่ 2 สัปดาห์

ภาพแสดงผลการประยุกต์ใช้ low level laser therapy ในการรักษาที่ 2 สัปดาห์

 
 
ภาพแสดงการประยุกต์ใช้  low level laser therapy ร่วมรักษาแผลบริเวณจมูก ที่ 6 สัปดาห์

ภาพแสดงการประยุกต์ใช้ low level laser therapy ร่วมรักษาแผลบริเวณจมูก ที่ 6 สัปดาห์

 

9. การใช้เลเซอร์เพื่อสลายไขมัน

เนื่องจากเซลล์ไขมันเป็นหนึ่งเป้าหมายที่สามารถดูดซึมพลังงานแสง เลเซอร์ได้ดี ดังนั้น จึงมีการพัฒนาเครื่องเลเซอร์ขึ้นมา เพื่อเป็นทางเลือกในการกําจัดไขมันส่วนเกิน

การใช้เลเซอร์ในการกําจัดไขมันน้ันมีอยู่ 2 รูปแบบ ได้แก่

การใช้แสงเลเซอร์พลังงานต่ำ (Low Level Laser Therapy) เจาะจงกับเซลล์ไขมันและปล่อยพลังที่เหมาะสมต่ำสุดที่เซลล์ไขมันแตกสลาย โดยที่ไม่ทำลายโครงสร้างผิวหนัง เพื่อหวังผลในชั้นไขมันระดับตื้นให้เซลล์ไขมันแตกสลายและถูกร่างกายดูดซึมผ่านระบบน้ำเหลือง เจาะจงกับเซลล์ไขมนั และปล่อยพลังที่เหมาะสมต่ำสุดที่เซลล์ไขมันแตกสลาย โดยไม่ทำลายโครงสร้างผิวหนัง

การใช้แสงเลเซอร์ผ่านเส้นใยนําแสง (Fiber Optic Laser Probe) เพื่อเจาะเข้าไปในตำแหน่งที่ต้องการดูดไขมันส่วนเกินออก จากนั้นจะปล่อยคลื่นความยาวแสง ที่เหมาะสมต่อการทําให้เซลล์ไขมันแตกสลายแบบเจาะจงเฉพาะเซลล์ไขมัน จากนั้นจะดูดออกเช่นเดียวกับการดูดไขมัน และพลังงานเลเซอร์ในระดับต่ำจะกระตุ้นให้เส้นใยคอลลาเจนหดตัว ส่งผล ให้ผิวหนังเกิดการเต่งตึงร่วมด้วย ตำแหน่งที่ใช้ได้ผลดี ได้แก่ บริเวณแก้ม และ ใต้คาง บริเวณต้นขาเหนือเข่า หรือบริเวณเอว เป็นต้น

 
ภาพแสดงก่อนและหลัง การใช้  Endolaser Lipolysis 12 สัปดาห์ เพื่อแก้ไขไขมันส่วนเกินและยกกระชับ ผิวหนังบริเวณแนวกราม

ภาพแสดงก่อนและหลัง การใช้ Endolaser Lipolysis 12 สัปดาห์ เพื่อแก้ไขไขมันส่วนเกินและยกกระชับ ผิวหนังบริเวณแนวกราม

 
 
ภาพแสดงก่อนและ หลังการใช้  Endolaser lipolysis 6 เดือน เพื่อปรับรูปหน้าแนวกรามและแก้ม ให้สัดส่วนใบหน้าคมชัด และผิวกระชับขึ้น

ภาพแสดงก่อนและ หลังการใช้ Endolaser lipolysis 6 เดือน เพื่อปรับรูปหน้าแนวกรามและแก้ม ให้สัดส่วนใบหน้าคมชัด และผิวกระชับขึ้น

 
ภาพแสดงก่อนและหลังใช้เลเซอร์สอดใส่รักษาเส้นเลือดขอด ที่  8 สัปดาห์ (Endovenous Laser Abrative Treatment)

ภาพแสดงก่อนและหลังใช้เลเซอร์สอดใส่รักษาเส้นเลือดขอด ที่ 8 สัปดาห์ (Endovenous Laser Abrative Treatment)

10. การใช้เลเซอร์เพื่อรักษาเส้นเลือดขอด (Laser Treatment for Varicose Vein)

หากเส้นเลือดขอดบริเวณผิวหนัง มีขนาดเล็ก เช่น Telangiectasia หรือ spider nevi ซึ่งมีขนาดประมาณ 1-2 มิลลิเมตร การใช้เลเซอร์กลุ่ม Pulse Dye Laser (595 nm) หรือ KTP (532 nm) ดังกล่าวแล้ว จะได้ผลค่อนข้างดี แต่หากเส้นเลือดที่มีขนาดใหญ่ขึ้นกว่านี้ การใช้แสงเลเซอร์เพื่อเข้าไปทําลายผนังหลอดเลือด เพื่อให้ผนังหลอดเลือดเกิดการฝ่อตัวนั้น (Endovascular Laser Abrasion, EVLA) จะให้ผลค่อนข้างดีกว่า

โดยการเลือกแสงเลเซอร์ที่ถูกดูดซึมโดยเม็ดเลือดได้ค่อนข้างดี ได้แก่ Diode Laser (1500 nm) เจาะผ่านเข้าไปในเส้นเลือด จากนั้นจะปล่อยพลังงานเลเซอร์ที่เหมาะสม แล้วค่อยๆทะยอยถอนเส้นใยนําแสงเลเซอร์ออก ผลคือจะทําให้ผนังหลอดเลือดขอดนั้นค่อยๆฝ่อหายไปเอง

 
ภาพแสดงลักษณะของเส้นเลือดขอดและเทคนิคการใช้เส้นใยแสงเลเซอร์ เพื่อเข้าไปทําลายผนังเส้นเลือดขอดให้ยุบฝ่อลง

ภาพแสดงลักษณะของเส้นเลือดขอดและเทคนิคการใช้เส้นใยแสงเลเซอร์ เพื่อเข้าไปทําลายผนังเส้นเลือดขอดให้ยุบฝ่อลง

 
 
 

11. การใชเ้ลเซอรเ์พื่อรักษารอยสัก (LaserTreatmentofTattoos)

รอยสัก (Tattoos) ที่เกิดใต้ผิวหนังนั้นจะเกิดจากเม็ดผงสี (Ink Granule) ซึ่งส่วนมากจะฝังตัวอยู่ในชั้นหนังแท้และมักกระจายตัวอยู่ในเซลล์ไฟโบรบลาส (Fibroblast) บางส่วนจะถูกเม็ดเลือดขาว (Macrophages) กินแล้วตายรวมกันเป็นก้อนเม็ดสีใต้ผิวหนัง (Membrane-bound pigment granules)

การรักษารอยสักนั้นจะใช้หลักการเดียวกับการรักษาสีผิวที่ผิดปกติ กล่าวคือ เลเซอร์จะปล่อยพลังงานแล้วทําให้เม็ดผงสี (Granule) แตกสลายเป็นอนุภาคที่เล็กลง บางส่วนจะถูกระบบไหลเวียนน้ำเหลืองดูดซึม บางส่วนจะถูกเม็ดเลือดขาวย่อยสลายไป และอนุภาคที่เล็กลงที่เหลือในผิวหนังจะทำให้มองเห็นได้ไม่ชัดเจน

ปัจจุบันเลเซอร์ลบรอยสักที่เป็นมาตรฐานในการรักษาจะเป็นกลุ่ม Q-Switch Laser เช่นเดียวกับเลเซอร์รักษาความผิดปกติของสีผิว ได้แก่ QS Ruby (694 nm), QS Alexandrite (755 nm), QS Nd:Yag (532,1064 nm) สิ่งที่ต้องทราบอีกอย่างคือ การใช้เลเซอร์ลบรอยสักนั้น จะทำให้รอยสักจางลงแต่ไม่ทำให้รอยสักหายสนิทไปทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์ ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

 
ภาพแสดงก่อนและหลังใช้  Q-Switch ที่ 12 สัปดาห์ ในการรักษารอยสัก

ภาพแสดงก่อนและหลังใช้ Q-Switch ที่ 12 สัปดาห์ ในการรักษารอยสัก

 

รู้ไว้ใช่ว่า... กับสารพัดวิธี ใช้ เลเซอร์ ดูแลความงาม

ถาม: การใช้เลเซอร์ผ่าตัดดีกว่ามีดผ่าตัดหรือไม่ ?

ตอบ: การใช้เลเซอร์ในการผ่าตัด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการหายของแผลปัญหาบวมช้ำ หรืออัตราการเกิดแผลเป็นนั้น ไม่มีความแตกต่างจากการใช้มีดผ่าตัด ทั้งนี้ผลลัพธ์ของการผ่าตัดนั้นจะขึ้นอยู่กับฝีมือของศัลยแพทย์เป็นหลัก

ถาม: เลเซอร์ใช้รักษาแผลเป็นได้ในทุกกรณีหรือคุ้มค่าหรือไม่ ?

ตอบ: ไม่ทุกกรณี กล่าวคือการรักษาเเผลเป็นที่ดีที่สุดคือ การดูแลแผลให้ดีที่สุดให้หายเร็วที่สุด ไม่มีการอักเสบหรือติดเชื้อเมื่อแผลเริ่มแห้ง หรือตัดไหมแล้วให้นวดคลึงไปบ่อยๆ ด้วยโลชั่นหรือน้ำมันเพื่อให้แผลนิ่ม และเข้าสู่สภาวะปกติเร็วขึ้น การใช้แผ่นซิลิโคนปิด (Silicon Sheet) เป็นมาตรฐานในการรักษาเเผลเป็น และป้องกันการเกิดแผลเป็นนูน เลเซอร์เป็นแค่หนึ่งทางเลือกในการรักษาเพื่อให้แผลเป็นกลับสู่สภาวะปกติเร็วขึ้น และ ป้องกันการเกิดแผลเป็นนูน โดยเฉพาะในคนไข้ที่มีประวัติเป็นแผลเป็นนูนหรือคีลอยด์ง่าย

ถาม: เลเซอร์ทําให้ผิวบางลงอย่างถาวรหรือไม่ ?

ตอบ: เลเซอร์ทำให้ผิวหนังบางลงแต่ไม่ถาวร และไม่ใช่ทุกชนิดของเลเซอร์ที่จะทําให้ผิวบางลง กล่าวคือ ผิวหนังที่บางลงนั้น เกิดจากการใช้เลเซอร์เพื่อปรับสภาพผิว โดยจุดประสงค์เพื่อต้องการปรับสภาพผิวส่วนบน กระตุ้นให้เส้นใยคอลลาเจนหดตัวและกระตุ้นการสร้างเส้นใยคอลลาเจนมากขึ้น ส่งผลให้รอยแผลเป็นชนิดหลุมตื้นขึ้น ผิวเต่งขึ้น ดูดีขึ้น ซึ่งผิวหนังส่วนบนจะบางแค่ชั่วคราว ส่วนผิวหน้าต่างๆจะกลับสู่สภาวะปกติหลังจากทำเลเซอร์ครั้งสุดท้ายแล้วประมาณ 6 เดือนขึ้นไป

ถาม: เลเซอร์รักษาสีผิวเช่น ฝ้า กระ เมื่อหยุดทําเลเซอร์แล้ว จะมีโอกาสกลับมาเป็นฝ้า กระ มากกว่าเดิมใช่หรือไม่ ?

ตอบ: ไม่ใช่ กล่าวคือการกลับมาเป็นซ้ำ และความเข้มของสีผิวของ รอยโรคน้ันจะไม่สัมพันธ์กันกับการใช้เลเซอร์เพื่อการรักษาแต่อย่างใด ปกติรอยดําหลังจากการทําเลเซอร์เกิดจากหลายปัจจัย และที่สําคัญคือการเลือกของผู้ป่วยในวิธีการที่จะรักษา โดยเฉพาะในรายที่มีผิวคล้ำ (Skin Type III) ขึ้นไป การเลือกชนิดของเลเซอร์ รวมทั้งการตั้งค่าต่างๆในการรักษา ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยให้เกิดรอยดำหลังจากทำเลเซอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วง 1-3 เดือนแรก แต่ส่วนใหญ่จะหายไปได้เอง ร่วมกับการป้องกันแสงแดด และการใช้ครีมกันแดดที่ป้องกันได้ทั้งรังสีอัลตราไวโอเลต ชนิดเอและบี ที่มีค่า SPF มากกว่า 30 นั้น จะช่วยในการป้องกันการเกิดรอยดํากลับมาเป็นซ้ำได้

ถาม: ก่อนและหลังการรักษาด้วยเลเซอร์ ต้องหลีกเลี่ยงแสงแดดหรือไม่ ? นานเพียงใด ?

ตอบ: จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงแสงแดดทั้งก่อนและหลังทำเลเซอร์ กล่าวคือก่อนทำเลเซอร์ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งอย่างน้อย 2 สัปดาห์ขึ้นไป หรือหากถูกแสงแดดหรือผิวเปลี่ยนเป็นสีแทนควรหยุดรักษาด้วยเลเซอร์ก่อน จนกระทั่งผิวกลับสู่สภาวะปกติแล้วจึงไปทำเลเซอร์ ส่วนหลังทำเลเซอร์แล้ว ควรงดกิจกรรมกลางแจ้งที่สัมผัสแสงแดดนานๆ อย่างน้อย 4 สัปดาห์ขึ้นไป แต่ยังสามารถทํากิจวัตรประจําวันนอกบ้านได้ตามปกติ โดยใช้ครีมกันแดด ชนิดกันน้ำ ที่สามารถป้องกันได้ทั้งรังสีอัลตราไวโอเลตเอและบี ที่มีค่า SPF มากกว่า 30 ร่วมกับกางร่มหรือสวมหมวกปีกกว้างเมื่อต้องสัมผัสแสงแดด

ถาม: ควรหยุดยาอะไรบ้าง ? ก่อนมาทําเลเซอร์

ตอบ: การทำเลเซอร์เพื่อปรับสภาพผิวชนิดมีแผลน้อยเพื่อรักษาแผลเป็นชนิดหลวม หรือเพื่อให้ผิวหน้าเต่งตึงนั้น จําเป็นต้องหยุดยาบางกลุ่ม ได้แก่ หยุดยาในการรักษาสิวและลดความมันบนใบหน้า เช่น ไอโซเตรท ติโนอิน (Isotretinoin) อย่างน้อย 6 เดือน ยากลุ่มละลายลิ่มเลือด เช่น Aspirin, Warfarin, Heparin เพื่อป้องกันเลือดออกและช้ำง่าย แต่ควรปรึกษาแพทย์ที่รักษาโรคประจําตัวด้วย ส่วนยากลุ่มวิตามินหรือสมุนไพรต่างๆ ควรหยุดอย่างน้อย 1 สัปดาห์ เพื่อป้องกันเลือดออกง่ายและลดบวมช้ำ สำหรับเครื่องสำอาง หรือครีมกันแดดแนะนําให้งดในวันไปทําเลเซอร์

ถาม: หลังทําเลเซอร์แล้วจะเห็นผลเลยหรือไม่ ?

ตอบ: ไม่เห็นผลทันที กล่าวคือ ผลการรักษาต่างๆ ขึ้นกับชนิดของรอยโรค เช่น กระเนื้อ ไฝ หลังทําเลเซอร์ รอยโรคจะหลุดหายไปเลยแต่จะทิ้งรอยสะเก็ดให้หลุดออกเองในเวลาประมาณ 7-10 วัน สีผิวที่ผิดปกติ เช่น ปานดำ หรือรอยสัก รอยโรคจะจางลงไปเรื่อยเรื่อยในเวลาประมาณ 4–8 สัปดาห์ หลังการรักษา ส่วนเลเซอร์กำจัดขน เส้นขนก็จะค่อยๆหลุดเองหลังเสร็จสิ้นการรักษาในเวลา 2 สัปดาห์ขึ้นไป

ถาม: จะต้องทําเลเซอร์กี่ครั้งในการรักษา ?

ตอบ: ขึ้นกับรอยโรคที่จะใช้เลเซอร์ในการรักษา เช่น กระ ไฝ ทำครั้งเดียวแล้วเห็นผล ส่วนเลเซอร์ลดเม็ดสีต่างๆ และเลเซอร์กําจัดขนหรืออื่นๆนั้น อาจต้องใช้การรักษาหลายครั้งจนกว่าอาการจะดีขึ้น ซึ่งรอยโรคในแต่ละคนนั้น แพทย์ที่ทําการรักษาจะต้องประเมินและอธิบายให้ผู้ป่วยทราบ เพื่อให้เข้าใจแผนการรักษาร่วมกัน

“ การใช้เลเซอร์ในการรักษารอยโรคต่างๆ หรือการประยุกต์ใช้เลเซอร์ ในด้านความงามนั้นถือเป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษา (Alternative Treat- ment) โดยการรักษาให้ได้ผลดีและเกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับผู้ป่วยนั้น จะขึ้นอยู่กับความรู้ความชํานาญของแพทย์ ที่จะวินิจฉัยรอยโรคให้ถูกต้อง และใช้ศิลปะในการเลือกใช้เลเซอร์รวมทั้งการตั้งค่าต่างๆที่เหมาะสมในการรักษา กับผิวหนังของแต่ละราย รวมทั้งความเชี่ยวชาญในหัตถการด้านเลเซอร์ และการติดตามผลการรักษาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วย ”

นพ.พิชาญศักดิ์ บุญมาศ

ThPRS of Thailand