รู้ลึก รู้จริง เรื่องโบทูลินั่ม ท็อกซิน (Botulinum toxin)

ปัจจุบันแทบจะไม่มีใคร ไม่เคยได้ยินคําาว่า “โบทูลินั่ม ท็อกซิน” (Botulinum toxin) เพราะมักเห็นที่หน้าคลินิก หรือในนิตยสารเกี่ยวกับความงาม และการประชาสัมพันธ์ทางสื่อต่างๆ เกือบทุกวัน แต่จริงๆ แล้ว จะมีใครรู้และเข้าใจอย่างลึกซึ้งบ้างว่า โบทูลินั่ม ท็อกซิน หรือที่เรียกกัน ติดปากว่า โบท็อกซ์ (Botox) นั้น เป็นชื่อทางการค้ายี่ห้อหนึ่งของ “โบทูลินั่ม ท็อกซิน” และยังมีอีกหลายยี่ห้อที่หมายถึงผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกัน แต่ไม่ค่อยติดปากเท่าโบท็อกซ์ จึงมีคําถามเกิดขึ้นว่า แล้วโบทูลินั่ม ท็อกซิน คืออะไร? เอาไปใช้งานอย่างไร? เมื่อออกฤทธิ์แล้ว มีอะไรต้องเรียนรู้ และต้องระวังบ้างเพื่อที่ว่าหากต้องการใช้จริงๆ จะได้ไม่ถูกใครหลอกเอาเงินง่ายๆ แถมฉีดแล้วไม่ได้ผลอย่างที่ต้องการ

รู้จักโบทูลินั่ม ท็อกซิน ก่อนเลือกใช้ฉีด

โบทูลินั่ม ท็อกซิน เป็นโปรตีนที่สกัดได้จากเชื้อแบคทีเรีย ชื่อ Clos- tridium botulinum สารโปรตีนนี้ได้ถูกค้นพบและวิจัยมากว่า 100 ปีแล้ว ได้ถูกนํามาพัฒนาใช้เป็นยารักษาโรค มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1895 คําว่า โบทูลิซึม (Botulism) เป็นคำเรียก ภาวะอาหารเป็นพิษอย่างหนึ่ง ที่ประกอบด้วยอาการตามัว ปากแห้ง วิงเวียนคลื่นไส้ และสุดท้ายมักจะเสียชีวิตด้วยอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงทั่วตัว หายใจไม่ได้

คำว่า botulus เป็นคำที่มาจากภาษากรีก ซึ่งแปลว่า ไส้กรอก เนื่องจากในระยะแรก การระบาดของโรคนี้เกิดจาก อาหารไส้กรอก จนกระทั่งมีการวิจัยโดย Prof. Emile Pierre Marie van Ermemgem ค้นพบว่าสาเหตุของอาการนี้ไม่ใช่การติดเชื้อ แต่เป็นภาวะที่เกิดจากสารพิษ และหลังจากนั้นจึงมีการค้นพบกลไกของการเกิดอาการพิษ ได้ว่าพิษนั้นเมื่อเข้าไปในร่างกาย แล้วจะออกฤทธิ์ที่เส้นใยประสาทส่วนปลาย โดยสกัดกั้นไม่ให้หลั่งสารที่เป็นสื่อสัญญาณ ไปยังส่วนที่ทํางานจากการสั่งการของเส้นใยประสาทนั้นได้

 
Screen Shot 2563-08-31 at 10.50.04.png
 

ผลจากการออกฤทธิ์จึงเกิดกับอวัยวะที่ต้องอาศัยสารสื่อสัญญาณประสาทชนิดที่เรียกว่า Acetylcholine โดยเฉพาะกล้ามเนื้อร่างกาย ต่อมเหงื่อ เป็นต้น ผลของยาตัวนั้นจึงทำให้กล้ามเนื้ออ่อนกำลังลง เหงื่อออกน้อยลง ในทางการรักษาโรค จึงมีการนําสารนี้มารักษาโรคที่เกิดจากการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ เช่น ผู้ที่มีโรคทางระบบประสาท สมองกล้ามเนื้อชักกระตุกบ่อยๆ หรือ หมอตาก็เอามาใช้แก้ไขภาวะกล้ามเนื้อลูกตาหดตัวผิดปกติ เกิดภาวะตาเข ตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1960 เป็นต้นมา

ไขข้อสงสัยระหว่าง โบท็อกซ์ กับ โบทูลินั่ม ท็อกซิน

ความจริงแล้ว ยาทุกชนิดในวงการแพทย์จะมีชื่อเรียกด้วยกัน 2 ชื่อ คือ

1. ชื่อทางการแพทย์ (Generic name) ซึ่งจะเป็นชื่อทางเคมีของยาตัวนั้นที่เป็นตัวออกฤทธิ์ ยกตัวอย่าง เช่น Penicillin, Acetaminophen (หรือ Paracetamol), Acetyl salicylic acid (หรือ ASA, Aspirin) เป็นต้น ซึ่งบางชื่อก็เรียกง่าย บางชื่อก็เรียกยาก เพราะเป็นสูตรทางเคมีของยาตัวนั้น และแพทย์ เภสัชกร พยาบาล เท่านั้นที่จะสามารถสื่อสารกันได้เข้าใจ

2. ชื่อทางการค้า (Trade name) เป็นชื่อที่บริษัทผู้ผลิตยาตั้งขึ้นเพื่อให้ผู้ใช้ยาเรียกได้ง่ายขึ้นและสามารถจดจำได้ง่าย การตั้งชื่อส่วนมากจะอ้างอิงชื่อทางการแพทย์ แต่อาจจะมีการดัดแปลงให้กระชับขึ้นและติดปากมากขึ้น เช่น Botulinum toxin ก็มีชื่อเรียกแตกต่างกันในท้องตลาดเป็นหลายชื่อ เช่น BOTOX, DYSPORT, NEURONOX, BOTULAX, MEDITOX เป็นต้น แต่คนไทยเรารู้จักคุ้นเคยกับโบท็อกซ์ (Botox) เพราะเป็นยาที่มีมาในตลาดก่อนยี่ห้ออื่น คือประมาณเกือบยี่สิบปีแล้ว และเป็นต้นตํารับของยาตัวนี้ในท้องตลาดทั่วโลกด้วย ทําให้เราคุ้นเคยกับชื่อนี้มากกว่า

ปัจจุบันนี้ มีหลายบริษัทหลายประเทศผลิตยา โบทูลินั่ม ท็อกซิน (Botulinum toxin) ออกมาจําหน่ายมากมาย ทั้งยุโรป อเมริกา เกาหลี จีน แต่ละยี่ห้อก็อาจจะมีองค์ประกอบเหมือน หรือแตกต่างกันบ้าง ตามสูตรของแต่ละบริษัทที่ผลิตออกมาขายในท้องตลาด ดังนั้นผู้ใช้ก็ควรเข้าใจประเด็นนี้ให้ชัดเจนด้วยว่า การเลือกใช้ยาแต่ละยี่ห้อนั้น อาจจะมีความแตกต่างกันในแง่ของประสิทธิภาพ และปริมาณการใช้ยาที่แตกต่างกันด้วย ที่สําคัญคือ ราคาก็แตกต่างกันด้วย เพราะของแพงอาจจะไม่จําเป็นต้องมีคุณภาพดีกว่าของถูกเสมอไป ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ แพทย์ผู้ใช้ยาก็มักจะเป็นผู้ให้ข้อมูลแก่คนไข้ ก่อนการบริหารยา หรือคนไข้เองที่ฉลาดเลือกก็สามารถเสาะหาข้อมูลได้จากแหล่งต่างๆ โดยเฉพาะในเอกสารกำกับยาหรือในเว็บไซต์ต่างๆได้ไม่ยากนัก

กล่าวได้ว่า เป็นความบังเอิญและความช่างสังเกตของแพทย์จากเมือง แวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา ชื่อ Dr. Alastair Carruthers ที่สังเกตคนไข้ของเพื่อนจักษุแพทย์ของเขา ที่ได้รับการรักษาโรคกล้ามเนื้อรอบตาหดเกร็ง โดยการฉีดยาโบท็อกซ์ว่า รอยย่นที่หว่างคิ้วลดลง จึงทดลองใช้ยาตัวนี้ฉีดเข้าไปที่กล้ามเนื้อบนใบหน้าบางจุด ผลคือรอยย่นที่ไม่ต้องการบางแห่งหายไป และมีผิวที่เรียบเนียนขึ้นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้ยาตัวนี้ ในแง่การของลดรอยย่นบนใบหน้าให้หน้าดูตึงขึ้น โดยมีการเริ่มจากการใช้ลดรอยย่นหว่างคิ้ว ตีนกา หน้าผาก และขยายวงออกไปอย่างรวดเร็วในการใช้เพื่อความงาม จนครองตําแหน่งอันดับหนึ่งของการทําหัตถการทางความงามที่ไม่ใช้มีด ติดต่อกันเป็นเวลานับสิบปี

Botulinum toxin ในวงการ ความงาม

เมื่อรู้กลไกการออกฤทธิ์ของยาตัวนี้แล้ว ขอสรุปผลของยาตัวนี้ออกมาง่ายๆ ได้เป็นหัวข้อใหญ่ๆ ที่ได้ผลแน่และอธิบายการทํางานได้ชัดเจน มีด้วยกัน 3 ประการคือ

1. ช่วยลดรอยยับย่นที่ใบหน้าบริเวณส่วนต่างๆ รวมทั้งการปรับแก้ การย้อยห้อยของส่วนต่างๆ

2. ช่วยลดขนาดของกล้ามเนื้อที่มากเกินงาม

3. ช่วยลดเหงื่อที่ออกมาในส่วนต่างๆของร่างกาย

ดังนั้นหากมีการโฆษณาชักชวนว่าฉีดยา โบทูลินั่ม ท็อกซิน (Botulinum toxin) เพื่อรักษาเรื่องอื่นที่ไม่ได้อยู่ในสามหัวข้อนี้ ต้องคิดให้ทันกันว่าจะได้ผลด้วยกลไกอะไร และอธิบายได้ชัดเจนว่าได้ผลจริงหรือไม่ จะได้ไม่เสียใจว่าจ่ายเงินแล้วไม่ได้ผลหรือได้ผลแบบไม่คุ้มค่า

มีตัวอย่างผลของยาตัวนี้ ที่แยกอย่างละเอียดดังนี้

1. การใช้ Botulinum toxin เพื่อลดริ้วรอยย่นบนใบหน้า

ตามที่ได้เกริ่นนําไว้ตั้งแต่ตอนแรกแล้วว่า Botulinum toxin เข้ามาสู่วงการความงามได้เป็นครั้งแรก จากผลข้างเคียงที่แพทย์ได้สังเกตเห็นว่า รอยย่นลดลงหลังการฉีดรักษาโรคกล้ามเนื้อหดเกร็งรอบดวงตา จึงได้นํามาปรับใช้โดยอาศัยผลของการคลายกล้ามเนื้อที่ถูกฉีดยาเข้าไป ส่งผลให้ผิวหนังที่จีบตัวเป็นรอยยับย่นบริเวณดังกล่าวหายไป และเรียบเนียนขึ้นอย่างชัดเจน หากแพทย์สามารถจับคู่กล้ามเนื้อให้ถูกต้องและทราบวิธีการฉีดยาที่เหมาะสมเข้าไป ก็จะมีผลต่อการปรับรูปร่างของส่วนต่างๆ ได้

ตําแหน่งสําคัญบนใบหน้าที่มีริ้วรอยไม่พึงประสงค์ ซึ่งเรานิยมจะฉีดกันในปัจจุบัน ได้แก่ รอยย่นตีนกาข้างหางตาทั้งสองข้าง รอยย่นระหว่างคิ้ว รอยยับย่นกลางหน้าผาก เป็นต้น ซึ่งรอยเหล่านี้เป็นรอยย่นที่แสดงให้เห็นความแก่ก่อนวัย ที่คนทั่วไปไม่ปรารถนาให้มีปรากฏขึ้นบนใบหน้า แต่ในคนที่มีความตึงของผิวหนังพอสมควร รอยย่นเหล่านี้ก็มักจะไม่ลึกมากจนกลาย เป็นร่องลึกถาวรที่บริเวณนั้น การใช้โบทูลินั่ม ท็อกซิน (Botulinum toxin) ฉีดในตําแหน่งของกล้ามเนื้อที่เป็นต้นเหตุของรอยพับจีบเหล่านั้น ก็จะทําให้รอยจางหายไปได้ ดังรูปภาพ

 
ภาพแสดงตัวอย่างก่อนและหลังการฉีดลดริ้วรอยใบหน้าย่น

ภาพแสดงตัวอย่างก่อนและหลังการฉีดลดริ้วรอยใบหน้าย่น

 

จะเห็นได้ว่า ประโยชน์จากการฉีดโบทูลินั่ม ท๊อกซิน (Botulinum toxin) ที่ถูกต้องทั้งปริมาณและตําแหน่ง สามารถคืนความเรียบเนียนให้ผิวหน้า ลดรอยย่นได้อย่างดี และภายในหนึ่งสัปดาห์หลังการฉีดก็จะไม่มีตีนกา คิ้วผูกโบว์ โดยหน้าผากจะเรียบเนียนไม่มีรอยย่นมากวนใจ สามารถยิ้มหัวเราะได้เต็มที่ ในระหว่างที่ผลของยายังมีอยู่ ซึ่งโดยทั่วไปการกลับคืนตัวของกล้ามเนื้อจะใช้เวลาประมาณ 3-6 เดือน แล้วแต่ขนาดของกล้ามเนื้อ และการใช้งานของกล้ามเนื้อแต่ละมัด หากยิ้มเก่งหรือขมวดคิ้วตลอดเวลาก็จะคืนตัวได้ไว

การฉีดโบทูลินั่ม ท็อกซิน (Botulinum Toxin) ต้องการความชํานาญ และความรู้ที่ค่อนข้างแม่นยํามากขึ้นกว่าปกติ เพราะถ้าฉีดผิดตําแหน่ง ผิดขนาด ก็อาจเกิดปัญหาคิ้วตก คอห้อย หรือมุมปากเบี้ยวได้ เรียกว่าบางครั้งฉีดยาบางจุด แต่ได้ของแถมบางอย่างกลับมา ซึ่งอาจจะได้ทั้งผลดีหรือบางทีก็เป็นผลเสียกลับมาได้ เมื่อจะให้หมอฉีดยกส่วนต่างๆ ก็ต้องคอยระวังด้วย ว่าจะต้องทําโดยแพทย์ทีมีความชํานาญจริงๆ

2. การใช้ยา Botulinum toxin เพื่อปรับรูปทรงใบหน้าในบางตำแหน่ง

ปฏิเสธได้ยากว่าในยุคนี้คนรูปหน้าเรียว แบบที่มีคนเรียกว่า V-shape เป็นลักษณะรูปหน้าที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน ซึ่งอาจจะด้วยอิทธิพลของซีรีส์เกาหลีที่ดาราเกือบทุกคนหน้าเรียวแบบเดียวกันทั้งหมด ทั้งที่คนเกาหลีแท้ๆ จะมีรูปหน้าเหลี่ยม โหนกแก้มกว้างเป็นสี่เหลี่ยม

ใบหน้าส่วนล่างที่กางเหลี่ยมนั้น มีส่วนสำคัญเกี่ยวข้องสองประการ คือ กระดูกขากรรไกรกางใหญ่ และกล้ามเนื้อมุมกรามหนากว่าปกติ แต่สาเหตุของกล้ามเนื้อใหญ่นั้น อาจจะเป็นกรรมพันธุ์ ลักษณะของชนชาติ หรือเกิด จากนิสัยการชอบขบเคี้ยวของเหนียวแข็งเป็นประจํา อาหารจําพวกเนื้อสัตว์ที่เคี้ยวยาก ปลาหมึกย่าง หรือหมากฝรั่ง เป็นต้น การแก้ไขปัญหาหน้าเป็นสี่เหลี่ยม หรือมีกล้ามเนื้อมุมกรามหนาใหญ่ สามารถทําได้โดยวิธีการผ่าตัดเหลากระดูกมุมกราม โดยเฉพาะหากสาเหตุเกิดจากกระดูกใหญ่กาง รวมถึงการใช้โบทูลินั่ม ท็อกซิน (Botulinum toxin) ช่วยรักษา หากมีสาเหตุมาจากตัวกล้ามเนื้อมุมกรามเป็นหลัก

ก่อนอื่นต้องอธิบายกลไกการลดขนาดของกล้ามเนื้อโดยโบทูลินั่ม ท็อกซิน (Botulinum toxin) ก่อนว่า ทําไมเมื่อฉีดแล้วถึงสามารถลดความหนาของกล้ามเนื้อมัดดังกล่าวได้ ??

หากสังเกตให้ดีจะพบว่า กล้ามเนื้อของร่างกายหากใช้งานหนักมากเท่าไหร่ กล้ามเนื้อจะปรับตัวใหม่ขนาดใหญ่โตขึ้นโดยอัตโนมัติ เช่น นักเพาะกาย ฟิตเนส นักกีฬา จะเห็นกล้ามเนื้อใหญ่เป็นก้อนทั่วไปหมด เมื่อใดที่ไม่ได้ใช้กล้ามเนื้อ เช่น ในคนไข้ที่ประสบอุบัติเหตุ เป็นผู้ป่วยติดเตียง หรือคนไข้ที่ประสบอุบัติเหตุ ต้องดามกระดูกด้วยเฝือกเป็นเวลานานนับเดือน เมื่อถอดเฝือกออกแล้วจะพบว่ากล้ามเนื้อส่วนนั้นมีขนาดลีบเล็กลงอย่างเห็นได้ชัด

คนที่มีกล้ามเนื้อมุมกรามโต หากหยุดการใช้งานไม่ต้องเคี้ยวข้าวหรือกัดฟันเลยสักสองเดือน กล้ามเนื้อมัดนั้นจะเหี่ยวลงและหน้าเรียวตอบลง แน่นอนแต่ความเป็นจริงเราทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะเราต้องกินอาหาร และต้องเคี้ยวอยู่ตลอดเวลา โบทูลินั่ม ท็อกซิน (Botulinum toxin) จึงนำมาใช้ที่จุดนี้อย่างได้ผลดี เนื่องจากการฉีดยานี้เข้าไปที่กล้ามเนื้อมุมกรามในตำแหน่งที่ปูด โป่ง นูน อันเป็นสาเหตุให้หน้ากางเหลี่ยม จะทำให้กล้ามเนื้อหยุดทำงานเฉพาะจุดโดยไม่กระทบกระเทือนต่อการขบเคี้ยว เพราะยังมีส่วนกล้ามเนื้อ และมีกล้ามเนื้อมัดอื่นยังทํางานอยู่ เมื่อเวลาผ่านไปพอสมควร กล้ามเนื้อมัดที่ต้องการก็จะลีบตัวลงโดยอัตโนมัติ เนื่องจากมันขยับตัวไม่ได้นั่นเอง

 
ภาพแสดงตัวอย่างก่อนและหลังการใช้ Botulinum toxin เพื่อปรับรูปทรงใบหน้าในบางตําแหน่ง

ภาพแสดงตัวอย่างก่อนและหลังการใช้ Botulinum toxin เพื่อปรับรูปทรงใบหน้าในบางตําแหน่ง

 

จะเห็นได้ว่าด้วยกลไกง่ายๆ ที่มีต่อกล้ามเนื้อ ทําให้สามารถปรับลดขนาดของใบหน้าโดยรวมได้โดยการฉีดยาลดมุมกรามลง เมื่อยาออกฤทธิ์เต็มที่ก็จะได้หน้าเรียว V-shape ดังตั้งใจ

อย่างไรก็ตาม การฉีดยาลดมุมกรามมีส่วนที่ต้องระวังเช่นเดียวกับ การฉีดโบทูลินั่ม ท็อกซิน (Botulinum toxin) ที่ตําแหน่งอื่นๆ คือ ความแม่นยำ และปริมาณยาที่เหมาะสมในการฉีด เพราะการใช้ปริมาณยาอาจจะไม่เท่ากันในแต่ละคน และวิธีการฉีด จําเป็นต้องฉีดให้ถูกต้องกับกล้ามเนื้อ ไม่ให้ยาเข้าไปในกล้ามเนื้อสื่วนอื่นโดยเฉพาะกล้ามเนื้อที่ใช้ในการขบเคี้ยว หรืออ้าปาก หากฉีดลึกเกินไป สูงเกินไป ก็อาจจะเกิดภาวะอ่อนแรงของกล้ามเนื้อขบเคี้ยวได้ แต่ยาจะมีผลเพียงชั่วคราว เพียงแต่รอเวลาให้ยาหมดฤทธิ์ ภาวะต่างๆก็จะกลับคืนสู่ปกติได้ในที่สุด

3. การใช้ยา Botulinum toxin เพื่อลดน่อง

ในร่างกายของเรา มีอีกจุดหนึ่งที่เป็นปัญหาจากกล้ามเนื้อที่โป่งเยอะ เกินงาม และสามารถใช้โบทูลินั่ม ท็อกซิน (Botulinum toxin) ช่วยได้ นั่นคือการใช้เพื่อลดน่อง การมีน่องเรียว น่องสวย เป็นส่วนที่ค่อนข้างสําคัญ สําหรับสาวยุคใหม่ เนื่องจากการแต่งตัวของสาวๆ ปัจจุบันโดยเฉพาะสาวทํางานในสํานักงาน ที่มีความจําเป็นต้องสวมกระโปรงรวมทั้งรองเท้าส้นสูง ซึ่งบางครั้งส่งผลให้น่องโต ปูดเป่ง ดูไม่สวยงาม และทําให้ขาดความมั่นใจได้ และเนื่องจากเรียวขาและน่องมีส่วนสําคัญในการเคลื่อนไหว การเดิน การวิ่ง การรักษาโดยวิธีรุนแรง เช่นการผ่าตัดอาจส่งผลต่อการใช้งานได้ค่อนข้างมาก การใช้โบทูลินั่มท็อกซิน (Botulinum toxin) จึงสามารถแทรกตัวเข้ามามีบทบาทต่อการทําให้กล้ามเนื้อเรียวลีบลงได้เฉพาะที่โดยมีผลข้างเคียงน้อย กว่าวิธีผ่าตัดอย่างเห็นได้ชัด

กลไกการทํางานเพื่อลดขนาดของกล้ามเนื้อน่อง อาศัยหลักการเดียวกับการลดขนาดกล้ามเนื้อมุมกราม คือ ใช้ยาฉีดเข้ากับการลดขนาดกล้ามเนื้อมุมกราม คือใช้ยาฉีดเข้าไปที่กล้ามเนื้อน่อง ส่วนที่ปูดนูนมากๆ เมื่อยาออกฤทธิ์เต็มที่ กล้ามเนื้อ ณ จุดนั้นก็จะทํางานได้น้อยลง

นั่นคือเปิดโอกาสให้การหดตัวของกล้ามเนื้อส่วนนั้นทำงานไม่ได้เมื่อเวลาผ่านไปนานประมาณ 1-2 เดือน กล้ามเนื้อน่องส่วนที่ปูดโป่ง เป็นก้อนก็จะค่อยๆเรียวลีบลงโดยการไม่ถูกใช้งานในที่สุด

การฉีดยาเข้าไปที่น่อง สามารถทําได้เฉพาะกล้ามเนื้อส่วนที่นูนเกินความต้องการเท่านั้นไม่สามารถฉีดกล้ามเนื้อทั้งหมดของน่องได้ เพราะจะส่งผลต่อการเดิน การวิ่ง และการขึ้นบันได เป็นต้น คนไข้ที่ได้รับยาในตำแหน่งที่ถูกต้องปริมาณที่เหมาะสม ก็จะได้น่องที่เรียวเล็กลงในเวลาประมาณ 1-2 เดือน หลังจากนั้นก็จะใช้เวลาอีกประมาณ 3-4 เดือน ก็จะกลับคืนสู่สภาพเดิม นั่นหมายความว่า จะต้องรับการฉีดยาใหม่ หากต้องการรักษาสภาพน่องเรียวให้คงทนต่อเนื่องกันต่อไป

จะเห็นได้ว่าการใช้ โบทูลินั่ม ท็อกซิน (Botulinum toxin) เพื่อลดขนาดกล้ามเนื้อ เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่เพิ่มเติมจากการใช้เพื่อความงามบนใบหน้า และได้ขยายขอบเขตการใช้งานออกมาอย่างที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน แต่ทั้งนี้ก็เช่นเดียวกับการฉีดยาตัวนี้ ซึ่งก็ต้องย้ำกันอีกหลายๆรอบ ว่าการฉีดยาในตําแหน่งต่างๆ สมควรจะได้รับการดูแลและรักษาให้ถูกตําแหน่ง ถูกขนาด และถูกวิธี โดยแพทย์ที่มีความรู้ความเข้าใจและความชํานาญ เพื่อให้ได้รับผลการรักษาที่ดีตามต้องการ

ผลข้างเคียงของการใช้โบทูลินั่ม ท็อกซิน ( Botulinum toxin) เพื่อลดน่องก็เช่นเดียวกับการฉีดเพื่อลดมุมกราม คืออาการฟกช้ำเขียวในตำแหน่งที่ได้รับการฉีด ซึ่งโดยมากแล้วมักจะไม่มี หรือมีน้อย หากได้รับการฉีดที่ถูกต้อง และอาจมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อขา ซึ่งในระยะแรกอาจจะมีการเมื่อยในเวลาเดินเร็วกว่าปกติ เนื่องจากกล้ามเนื้อขาทํางานได้น้อยลง และต้องใช้กล้ามเนื้อมัดอื่นข้างเคียงที่เหลือมาทํางานแทน

ดังนั้น นักกีฬาที่ต้องวิ่งทําเวลา หรือต้องวิ่งการกุศล ควรจะหลีกเลี่ยงการฉีดบริเวณน่อง เพราะอาจจะวิ่งไม่ถึงเส้นชัย และหมดแรงเสียก่อน และสุดท้ายคือผลของยาที่อยู่ได้ชั่วคราว ประมาณ 4-6 เดือน ก็จะกลับสู่สภาพเดิมและต้องมารับการฉีดใหม่

 
ภาพแสดงตัวอย่างก่อนและหลังการฉีด Botulinum toxin ลดขนาดน่อง

ภาพแสดงตัวอย่างก่อนและหลังการฉีด Botulinum toxin ลดขนาดน่อง

 

4. การใช้เพื่อลดเหงื่อออกมากเฉพาะที่

เมื่ออ่านถึงตรงนี้ อาจมีคำถามว่ามีปัญหาเช่นนี้ด้วยหรือ ซึ่งตอบได้เลยว่ามีคนที่มีปัญหานี้ค่อนข้างมาก แต่มักจะไม่ทราบว่าสามารถแก้ไขได้ โดยภาวะเหงื่อออกมากเฉพาะที่นั้น มีชื่อเรียกทางการแพทย์ว่า Hyperhidrosis ซึ่งปกติแล้วเกิดขึ้นเนื่องจากการทํางานมากเกินไปของต่อมเหงื่อในร่างกาย ทําให้มีเหงื่อออกมากผิดปกติ

สำหรับภาวะที่สามารถใช้ โบทูลินั่ม ท็อกซิน (Botulinum toxin) รักษาได้นั้นต้องเป็นภาวะเหงื่อออกมากเฉพาะที่ซึ่งที่เป็นปัญหามักจะพบใต้รักแร้ และที่ฝ่ามือ ซึ่งพบมากที่สุด ปัญหาของคนเหงื่อออกมากเฉพาะที่ เช่น ที่ รักแร้ คือเกิดวงพระจันทร์เปียกแฉะใต้วงแขน เวลาใส่เสื้อแล้วยังไปไม่ถึงไหน ก็จะมีเหงื่อออกชุ่มเสื้อจนเป็นวงชวนให้หงุดหงิด และเป็นปัญหาเวลาออกสังคม หรือเวลาทํางานได้ มิหนําซ้ำหากมีเชื้อแบคทีเรียลงไปช่วยสมทบ ก็จะเกิดกลิ่นอับชื้นปนเหงื่อเข้าไปอีกกลายเป็นกลิ่นไม่พึงประสงค์ ชวนเป็นที่รังเกียจของคนรอบข้าง และเสื้อที่ใส่เป็นประจําก็มักจะเปื่อยขาดบริเวณรักแร้ เป็นปัญหาเสียเงินหาซื้อเสื้อผ้าใหม่เป็นประจํา หากเป็นคนที่มีเหงื่อออกมากที่ฝ่ามือก็จะมีปัญหาอีกแบบหนึ่ง คือวันทั้งวันไม่สามารถถอยห่างกระดาษทิชชู่ หรือผ้าเช็ดหน้าได้ เพราะมือชุ่มเหงื่อตลอดเวลา ไม่ว่าอากาศจะร้อนหรือเย็น เวลาจะต้องไปสัมผัสมือกับใคร ก็กลายเป็นบุคคลที่น่ารังเกียจไม่มีใครอยากจับมือด้วย โดยเฉพาะกับฝรั่งที่อาศัยการสัมผัสมือทักทายกันตลอดเวลา

ปัญหานี้ในอดีตยังไม่มีการใช้โบทูลินั่ม ท๊อกซิน (Botulinum toxin) คนที่มีเหงื่อออกมาก ต้องหาทางใช้ยาทา โรลออน สารส้ม แป้งทามือ หรือ บางคนต้องอาศัยกินยาห้ามการทํางานของต่อมเหงื่อ ซึ่งออกฤทธิ์แบบไม่เจาะจง ผลที่ตามมาคือเกิดอาการปากแห้ง ตาแห้ง และเหงื่อออกน้อยทั่วตัว และมีผลต่อการทำงานของระบบอื่นตามมา จนไม่สามารถใช้ยาต่อเนื่องกันได้นานด้วย จึงไม่เป็นที่นิยมในการรักษา และต้องทนยอมรับภาวะเช่นนี้ต่อไป จนกระทั่งพบว่าการใช้โบทูลินั่ม ท็อกซิน (Botulinum toxin) ฉีดเข้าไปที่ ผิวหนังบริเวณที่เราต้องการให้เหงื่อออกน้อยลง สามารถทําได้ด้วยความปลอดภัย จึงนับว่าปัจจุบันนี้มีทางออกให้กับคนไข้ที่มีปัญหานี้แล้ว และการออกฤทธิ์ก็ได้ผลเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ หากฉีดอย่างถูกต้องถูกวิธี ผลข้างเคียงก็เกิดขึ้นน้อยมาก และเนื่องจากต่อมเหงื่ออาศัยใยเส้นประสาทสั่งงาน เช่นเดียวกับกล้ามเนื้อ แต่เนื่องจากเส้นใยนั้นเล็กมาก การออกฤทธิ์จึงอยู่คงทนยาวนานกว่าการออกฤทธิ์ที่กล้ามเนื้อเสียด้วย สามารถฉีดครั้งเดียว แห้งได้นานเกือบปี ประหยัดทั้งค่าใช้จ่ายและคงอยู่ในเวลานาน

 
Screen Shot 2563-08-31 at 10.57.02.png
 

ข้อเสียของการฉีดยารักษาภาวะเหงื่อออกมาก ก็เช่นเดียวกับการฉีดยาทั่วไป คือมีรอยเข็ม และอาจจะมีจ้ำเลือดเกิดขึ้นได้ เช่นเดียวกัน ในกรณีที่มีการฉีดที่ฝ่ามือลึกเกินกว่าชั้นผิวหนังของต่อมเหงื่อ ก็อาจจะเกิดการแพร่ซึมลึกของตัวยาเข้าไปถึงกล้ามเนื้อได้ ส่งผลให้กล้ามเนื้อของฝ่ามือเกิดการอ่อนแรงได้เหมือนกัน แต่การฉีดโดยแพทย์ผู้ชํานาญการจริง ก็มักจะไม่เกิดผลข้างเคียงเช่นนี้

ดังนั้น โบทูลินั่ม ท็อกซิน (Botulinum toxin) จึงนับว่าเป็นยาชนิดหนึ่งที่สามารถใช้ได้ผลทั้งการรักษาโรคกล้ามเนื้อหดเกร็ง และการนำมาดัดแปลงใช้ด้านความงามมาเป็นเวลาหลายสิบปี และยังคงเป็นอันดับหนึ่งในบรรดาหัตถการด้านความงามของโลกในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นหัตถการที่ไม่ซับซ้อน และได้ผลค่อนข้างดีสําหรับคนไข้ที่ได้รับการฉีดอย่างถูกต้อง ทั้งวิธีการฉีด ปริมาณยาที่เหมาะสม และทําโดยแพทย์ที่มีความรู้ความเข้าใจการบริหารยาอย่างถูกต้องแม่นยํา

การฉีดยาชนิดนี้ มีผลต่อบริเวณที่ต้องการแก้ไข ด้วยผลที่อธิบายได้ จากการออกฤทธิ์ของตัวยาที่สำคัญ สามประการ ดังได้อธิบายมาแล้วข้างต้น การแก้ไขปัญหาอื่นๆ โดยอ้างว่า ท็อกซิน (Toxin) สามารถทําให้ได้นั้น เช่น ทําให้ผิวใสตึงยกหน้าได้ทั้งหน้าโดยไม่ต้องผ่าตัด บางครั้งไม่สามารถพิสูจน์ได้ ทางเภสัชศาสตร์ว่าเกิดจากยานี้จริงหรือไม่ คนไข้จึงควรทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ก่อนเสียเงิน ว่าจะยอมใช้ยานี้กับข้อบ่งชี้นั้นๆหรือไม่ เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียเงินเปล่ากับการใช้ยาที่ไม่ได้ผลจริง ดังที่มีโฆษณาเกลื่อนในท้องตลาดปัจจุบัน

ThPRS of Thailand