ปลดล็อคปัญหา เต้านมหย่อนยาน ด้วยศัลยกรรมยกกระชับ

การผ่าตัดศัลยกรรมตกแต่งเสริมความงามที่นิยมมากที่สุด คือการผ่าตัดเสริมเต้านมด้วยถุงซิลิโคน ซึ่งเหมาะกับผู้หญิง รวมทั้งผู้ชายที่ต้องการเปลี่ยนเพศเป็นผู้หญิงที่มีเต้านมเล็กแต่ไม่หย่อนยาน ในขณะที่ผู้หญิงอีกกลุ่มหนึ่งที่หลังมีบุตรแล้วลดน้ำหนัก หรือผ่านการเสริมเต้านมมาระยะหนึ่ง เต้านมที่เคยดูอวบอิ่ม เต่งตึง จะเริ่มหย่อนยานเสียรูปทรงเนื้อนมทั้งหมด รวมทั้งหัวนมและปานนมจะหย่อนคล้อยห้อยตกลงมากองอยู่ใต้แนวฐานเต้านม บริเวณเนินหน้าอกก็จะแบนแฟบ ทำให้ผู้หญิงเหล่านั้นรู้สึกสูญเสียความมั่นใจในรูปลักษณ์ของตนเอง มีผลกระทบกับหน้าที่การงานในบางอาชีพ จนแม้บางรายยังส่งผลถึงชีวิตครอบครัวและคู่ครองได้

ปัจจัยที่ทำให้เต้านมหย่อนยานมากหรือน้อย เร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับ อายุ เชื้อชาติ กรรมพันธุ์ การตั้งครรภ์ การให้นมบุตร ภาวะน้ำหนักเพิ่มหรือลดมากๆ ความสมดุลของฮอร์โมน หรือหลังเสริมเต้านม ศัลยแพทย์ตกแต่งสามารถช่วยเหลือแก้ไขปัญหานี้ โดยการผ่าตัดยกกระชับเต้านม ซึ่งมีอยู่ 2 วิธี คือ
วิธีแรก คือการร้อยไหมขนาดใหญ่หลายๆเส้นเข้าไปในเนื้อเต้านม แล้วไปแขวนผูกไว้กับกระดูกไหปลาร้า แต่ไม่เป็นที่นิยมนัก เนื่องจากใช้ได้กรณีที่เต้านมหย่อนยานไม่มากนักและอาจได้ผลไม่แน่นอน
วิธีที่สอง คือการผ่าตัดแบบมาตรฐานเป็นที่ยอมรับทั่วไป ประกอบด้วยการตัดเนื้อนมและผิวหนังที่หย่อนยานเป็นส่วนเกินออก เลื่อนตำแหน่งหัวนมและปานนมที่อยู่ต่ำเกินให้สูงขึ้นลดขนาดปานนมให้เล็กลง และเย็บกระชับเต้านมให้เข้ารูป หากคนไข้ต้องการเพิ่มขนาดเต้านมด้วย ก็สามารถเสริมด้วยถุงซิลิโคนในคราวเดียวกันได้

จากข้อมูลสำรวจการทำศัลยกรรมตกแต่งเสริมความงามทั่วโลกในปี พ.ศ. 2556 โดยสมาคม ISAPS (สมาคมศัลยกรรมตกแต่งความงามนานาชาติ) ประเมินว่า มีการทำผ่าตัดเสริมเต้านม รวมทั่วโลก 1.77 ล้านราย ในขณะที่มีการผ่าตัดยกกระชับเต้านม 7 แสนกว่าราย หรือคิดเป็นสัดส่วน 10:4 ประเทศสหรัฐอเมริกามีการทำผ่าตัดสองชนิดนี้มากที่สุดประมาณ 3 แสนต่อ 1 แสนราย ส่วนประเทศไทยถูกประเมินจากการสำรวจเดียวกันว่า มีการผ่าตัดประมาณ 1% ของตัวเลขรวมทั้งโลก จะเห็นได้ว่าสัดส่วนจำนวนผู้รับการผ่าตัดยกกระชับเต้านม มีไม่ถึงครึ่งหนึ่งของการเสริมเต้านมธรรมดา อีกทั้งการผ่าตัดแบบนี้จะต้องมีแผลจากการผ่าตัดมากกว่าการเสริมเต้านมอย่างเดียว ตามข้อเท็จจริงแล้วในคนไทยซึ่งมีผิวคล้ำกว่าคนผิวขาวในประเทศตะวันตกหรือออสเตรเลีย จะมีโอกาสเกิดแผลเป็นนูน หรือคีลอยด์บริเวณแผลผ่าตัดง่ายกว่า ผู้หญิงไทยจึงไม่นิยมพิจารณารับการผ่าตัดแบบนี้มากเท่าที่ควร ดังนั้นหากใครคิดว่าตัวเองถึงเวลาหรือจำเป็นที่จะต้องรับบริการผ่าตัดแบบนี้ หลังจากค้นหาข้อมูลความรู้ ทำความเข้าใจกับเรื่องนี้แล้ว สิ่งสำคัญต่อมาคือ “การเลือกศัลยแพทย์” ที่ไม่เพียงแต่มีความรู้เรื่องการผ่าตัดนี้ แต่ต้องมีประสบการณ์ในการผ่าตัดศัลยกรรมแก้ไขเต้านมหย่อนยานมามากพอสมควร เพื่อลดความเสี่ยงจากการผ่าตัดที่ไม่ประสบความสำเร็จ หรือมีข้อ แทรกซ้อนจนต้องรับการผ่าตัดแก้ไขก่อให้เกิดความกังวล เสียเวลาและเสียค่าใช้จ่ายมากกว่าที่วางแผนไว้ นอกจากเลือกศัลยแพทย์แล้ว ยังต้องเลือกสถานที่รับการผ่าตัดที่เหมาะสมอีกด้วย เนื่องจากการผ่าตัดแบบนี้ใช้เวลานานกว่าการผ่าตัดเสริม เต้านมถึง 2-3 เท่า อีกทั้งระหว่าง 3-6 ชั่วโมง ต้องให้ยาสลบทุกราย ดังนั้นไม่ว่าจะทำในคลินิกหรือโรงพยาบาล ต้องมั่นใจว่าได้มาตรฐานตามที่หน่วยราชการกำหนด มีวิสัญญีแพทย์ดูแลการให้ยาสลบ มีอุปกรณ์เครื่องมือที่จำเป็นในกรณีฉุกเฉินพร้อมเพรียง ถึงแม้ว่าโอกาสเกิดเหตุไม่คาดคิดจะมีน้อยมากก็ตาม เมื่อเลือกศัลยแพทย์แล้วก็จะต้องนัดพบเพื่อรับการตรวจร่างกาย และ ตรวจเอ็กซเรย์ปอด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ตรวจเลือด และถ้าเป็นไปได้ ให้ตรวจเอ็กซเรย์เต้านม (Mammogram) ไว้ใช้เปรียบเทียบในอนาคตด้วยทั้งนี้เพื่อประเมินความพร้อมในการรับยาสลบและผ่าตัดใหญ่ หากมีโรคประจำตัวหรือประวัติแพ้ยาตัวใด ต้องแจ้งให้ครบถ้วนเพื่อหลีกเลี่ยงอาการข้างเคียงจากการใช้ยาที่ไม่พึงประสงค์

 
DD07D668-5F5A-4918-9A41-202C79E5A031.jpeg
 

จากนั้นจะต้องพูดคุยทำความเข้าใจเรื่องสำคัญๆ อีกสองประการ คือ
ประการแรก แผลผ่าตัดจะเป็นลักษณะใด ? โดยปกติจะมีการวางแผลผ่าตัดยกกระชับเต้านมอยู่ 3 แบบ
- แบบที่ 1 คือ มีเฉพาะแผลรอบปานนม (circum-areolar)
- แบบที่ 2 มีแผลรอบปานนมและอีกหนึ่งแผลแนวตั้งจากขอบล่างของปานนมมาจรดฐานนม (Lollipop or Vertical lift)
- แบบที่ 3 คือ รูปตัวทีคว่ำหรือคล้ายสมอเรือ (Anchor lift or Inverted T lift) ซึ่งขึ้นอยู่กับหย่อนยานน้อยหรือมากตาม
ลำดับ
ประการที่สอง คือ ต้องการหรือจำเป็นที่จะต้องเสริมเต้านมด้วยถุงซิลิโคนในคราวเดียวกันทันทีหรือไม่ ซึ่งหากผู้รับการผ่าตัดไม่มีเนื้อนมบริเวณเนินอกเลย การผ่าตัดยกกระชับอย่างเดียวไม่สามารถช่วยให้มีเนินอกที่เต่งตึงขึ้นได้ จำเป็นที่จะต้องเสริมเต้านมไปในคราวเดียวกันโดยจะต้องปรึกษาถึงรูปทรงว่าเป็นแบบทรงกลม หรือหยดน้ำ (Round shape or Tear drop shape) ผิวเรียบหรือผิวขรุขระ (Smooth or Texture surface) ขนาดกี่ซีซี (Size) ทรงสูงหรือทรงต่ำ (Profile) จะวางไว้เหนือหรือใต้ชั้นกล้ามเนื้อหรือแบบดูโอ (Prepectoral, Subpectoral or Dual plane)

รวมทั้งโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น น้ำเหลืองคั่ง เลือดคั่ง แผลติดเชื้อ เนื้อหัวนมปานนมตาย (Seroma, Hematoma, Wound infection, Nipple necrosis) เป็นต้น หรือผลการผ่าตัดอาจไม่เป็นที่พอใจ เช่น เต้านมสองข้างไม่เท่ากันอย่างเห็นได้ชัด ไม่วา่จะเป็นขนาดหรือรูปทรง หัวนมและปานนมอยู่สูงเกิน ต่ำเกิน หรืออยู่ในตำแหน่งที่ไม่เท่ากัน ซึ่งภาวะเหล่านี้ บางอย่างสามารถแก้ไขรักษาได้ในช่วงหลังผ่าตัดใหม่ๆ แต่บางอย่างก็ต้องรอเวลาให้ผ่านพ้นไปสักระยะหนึ่งก่อน ถึงจะแก้ไขได้ ในวันผ่าตัดเนื่องจากเป็นการผ่าตัดใหญ่ ต้องให้ยาสลบโดยวิสัญญีแพทย์ ดังนั้นต้องงดอาหาร อย่างน้อย 6-8 ชม. ก่อนการดมยาสลบและผ่าตัด ต้องมีการให้น้ำเกลือเพื่อใช้เป็นช่องทางฉีดยาสลบ ยาแก้ปวด ยาปฏิชีวนะ ยาลดการคลื่นไส้อาเจียน นอกจากนั้นก็อาจมีการใส่สายสวนปัสสาวะเนื่องจากเป็นการผ่าตัดที่กินเวลานาน

 
4E95B0A8-9EA7-4252-9D97-12B7FF3375E0.jpeg
 

ก่อนการดมยาสลบ ศัลยแพทย์มักจะพบกับผู้รับการผ่าตัดเพื่อวาดแนวลงมีดบริเวณเต้านมตามที่เคยได้พูดไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นบริเวณรอบปานนม ช่วงเต้านมด้านล่างจากปานนมถึงฐานนมหรือรวมทั้งใต้ฐานนมอีกแผลหนึ่งด้วย การเตรียมถุงเต้านมซิลิโคนขนาดที่ตกลงไว้รวมทั้งขนาดสำรองด้วย เนื่องจากหลายครั้งพบว่าถุงซิลิโคนที่เตรียมไว้เล็กเกินไปหรือใหญ่เกินไปกว่าที่ประมาณการวางแผน ขั้นตอนการผ่าตัดก็เป็นไปตามที่อธิบายไว้ก่อนหน้านี้ หลังผ่าตัดเสร็จศัลยแพทย์ อาจจะใส่สายระบายเลือดไว้ในเต้านม และติดสายนี้ไว้จนกระทั้งวันรุ่งขึ้นจึงจะเอาออกพร้อมกับการตรวจความเรียบร้อยของแผลผ่าตัด ตรวจปานนม และหัวนมว่ามีเลือดมาเลี้ยงมากดีพอและไม่มีการบวมจากเลือดคั่งผิดปกติ ใส่เสื้อยกทรงที่กระชับสำหรับประคองเต้านมไว้ และอนุญาตให้กลับไปพักฟื้นที่บ้าน หากแผลผ่าตัดมีพลาสเตอร์กันน้ำปิดไว้ ก็จะอนุญาตให้อาบน้ำได้ และทานยาปฏิชีวะนะ ยาลดบวม ยาแก้ปวดต่อที่บ้าน เต้านมมักจะมีการบวมช้ำบ้างแต่ไม่มากจนผิดสังเกต ไม่ควรขับรถหรือออกกำลังกาย หลีกเลี่ยงการยกของหนัก ไม่ยกแขนสูงจรดศีรษะจนกว่าจะถึงวันนัดตรวจครั้งต่อไป หลังผ่าตัดประมาณ 5-10 วัน ศัลยแพทย์จะนัดผู้รับบริการมาตรวจความเรียบร้อย เปลี่ยนผ้าพันแผลและตัดไหม ไม่จำเป็นต้องนวดเต้านมตามที่คุ้นเคยกัน เนื่องจากมีการเย็บกระชับเนื้อเต้านมไว้ การนวดอาจจะเป็นผลเสีย ยิ่งถ้าหากนวดรุนแรงเกิน แผลด้านในเต้านมอาจฉีกขาด หรืออาจทำให้มีการบวมมีน้ำเหลือง มีเลือดออกคั่งได้ ผู้รับการผ่าตัดจะสามารถเริ่มใช้ชีวิตได้ปกติขึ้นประมาณ 1 เดือนหลังผ่าตัด เริ่มออกกำลังกายเบาๆ และค่อยเพิ่มขึ่นเรื่อยๆ ไปจนกระทั่ง 2-3 เดือนหลังผ่าตัด ก็จะสามารถวิ่ง ว่ายน้ำ ยกน้ำหนัก โยคะ ฯลฯ สำหรับการลดโอกาสเกิดแผลเป็นนูน หรือคีลอยด์ ศัลยแพทย์จะแนะนำให้ใช้ครีม เจล หรือยาทา ชนิดต่างๆ หรือแผ่นซิลิโคนปิดบริเวณแผลผ่าตัดหลังตัดไหม แต่ก็ไม่สามารถรับรองได้ว่าจะได้ผลทุกราย

ผู้ที่รับการผ่าตัดแก้ไขเต้านมหย่อนโดยการยกกระชับเต้านมต้องพึงระลึกเสมอว่า จะมีโอกาสที่เต้านมจะหย่อนยานได้อีก เนื่องจากคุณภาพความแข็งแรงของผิวหนังนั้นได้สญูเสียไปก่อนหน้านี้บ้างแล้ว ดังนั้นไม่ควรจะขอให้ศัลยแพทย์เลือกเต้านมที่มีขนาดใหญ่ในการเสริมคราวเดียวกัน และจะต้องใส่ชุดชั้นในประคองเต้านมตลอดไปหรือมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อจะได้ไม่ต้องมารับการผ่าตัดยกกระชับซ้ำอีกในอนาคต

นพ.สงวน คุณาพร

ThPRS of Thailand